top of page

อยู่กับมาร: โรคอิจฉาริษยา

“มารไม่มี บารมีไม่เกิด”

พี่ชายที่ผมเคารพเคยพูดคำคมนี้ตอนที่ผมเคยรู้สึกว่าทำไมชีวิตมันยุ่งเหยิง ต้องทนทุกข์กับเรื่องหลายๆ เรื่องที่เกิดกับตัวเอง ทั้งที่ตัวเองไปทำไว้และกับที่คนอื่นมาทำกับตัวเอง

และเมื่อเวลาผ่านมา ผมว่ามันก็เป็นอย่างที่คำพูดนั้นบอกไว้แหละครับ คือการที่มี “มาร” เข้ามาในชีวิตเรา นั่นก็ย่อมเป็นโอกาสให้เราสร้างบารมีให้กับตัวเราเอง บารมีที่ว่าอาจจะไม่ใช่บารมีแบบลาภยศชื่อเสียงอะไรหรอกนะครับ แต่คือการบารมีทางด้านวุฒิภาวะของเราเองให้สามารถอยู่เหนือปัญหาที่เข้ามาได้

ผมจำได้ว่าท่าน ว. วชิรเมธีเขียนหนังสือหลายครั้งว่าการมาของปัญหานั้น เปรียบเสมือนครูสอนชีวิตเรา ยิ่งเจอทุกข์หรือปัญหาหนัก เรียกได้ว่าเจอครูชั้นดี เจอระดับศาสตราจารย์เลยก็มี ถ้าเราผ่านและ “เรียนรู้” ไปกับมันได้ ก็เท่ากับได้วิชาอันมีค่ามาเลยทีเดียว

ลองมองย้อนไปอดีตแล้ว ผมว่าตัวเองก็น่าจะผ่านครูมาหลายคน เอาแบบระดับอาจารย์ที่เคี่ยวสุดๆ ก็เยอะ จะแบบศาสตราจารย์เลยก็มี ทั้งหมดนี้ก็ล้วนทำให้ผมได้รู้จักอะไรๆ มากขึ้น หลายๆ อย่างก็ทำให้เราเข้าใจโลกหรือแม้แต่ตัว “คน” เองด้วย

เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์งาน คำถามที่ผมถามว่าไม่ชอบคนประเภทไหน หนึ่งในคำตอบที่คนตอบมากที่สุดคือคนที่อิจฉาริษาผู้อื่น ประเภทคอยนินทาให้ร้ายอีกคน

จะว่าไปแล้ว อาการอิจฉาริษยานี้ก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่พุทธศาสนาเตือนให้เรารู้ตัวและเลี่ยงที่จะเป็น เพราะเป็นกิเลสที่น่ากลัวยิ่งนัก โดยอิจฉานั้นแปลว่า ความปรารถนา ความต้องการ หรือความอยากได้ ส่วนริษยานั้นแปลว่าความไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตน หรือทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นดีกว่าตน ถ้าจะแปลเอาความรวมๆ แล้ว คือการปรารถนาให้ผู้อื่นไม่ได้ดี ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ หลายๆ ครั้งอาจจะต้องการให้เป็นเดือดเป็นร้อนกันเลยก็มี

โรคอิจฉาริษยานี้ เป็นโรคที่เราเห็นกันอยู่เสมอๆ ในสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงอย่างเดียวแบบในละครหรือนิยายไทยเพราะโรคนี้เป็นกันทุกเพศ ทุกวัย ประหนึ่งว่ามันอยู่ในสันดานของมนุษย์ปุถุชนกันเลยนี่แหละ ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็คงเป็นเพราะการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตัวเอง มีอะไรมากกว่าตัวเอง ก็เกิดความคิดที่ไม่อยากให้เขามี ไม่ก็อยากมีมากกว่าเขา ต่อยอดเชื้อไฟกลายเป็นไฟกิเลสในใจร้อนรุ่ม หมายจะต้องเผาอีกฝั่งให้ได้ คนแบบนี้ที่จะเจอเยอะคือการพูดด้วยวาจาที่เหมือนพ่นพิษในใจตัวเองออกมา กระแทกแดกดัน หวังให้คำพูดนั้นกระทบไปอีกคนไม่ก็ให้มันทำลายอีกคนผ่านคนที่ได้ยิน ฯลฯ

อย่างที่บอกไปแล้ว คนอิจฉาริษยานั้นเป็นหนึ่งใน “มาร” ที่เราเจอกันอยู่บ่อยๆ การรับมืออย่างรู้เท่าทันก็ช่วยให้คุณไม่ต้องไปเดือดร้อนกับเขา ขณะเดียวกันก็อยู่เหนือปัญหาและมองดูด้วยการปล่อยวาง

ตัวผมเอง ก็เจอมารประเภทนี้อยู่หลายครั้ง หลายๆ ทีก็ทำให้ตัวเองลืมตัวจะกลายร่างเป็นมารตามเขาด้วยอารมณ์โมโหอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมว่ามันก็เป็นเรื่องปรกติของคนที่มีความรู้สึกและอาจจะยังตั้งสติไม่ทัน แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าเรารู้เท่าทันมัน เราก็จะจัดการความรู้สึกนั้นได้ดีขึ้น ไม่ต้องไปร้อนรนหรือลุกเป็นไฟตามไฟริษยาที่ลามมาถึง

ครูใหญ่มักบอกผมว่าคำพูดนั้นไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การที่เราฟังแล้วไปเดือดร้อนตามคำพูดต่างหากที่ทำร้ายเรา ทำไมฝรั่งไม่เห็นเดือดร้อนที่เราพูด ก็เพราะเขาไม่เข้าใจและไม่รู้สึกไปกับคำพูดของเรา ถ้าเรารู้จักวางคำพูดเหล่านั้นลง ไม่กระโดดโลดต้นไปกับไฟเหล่านั้น ไม่ช้าไฟก็มอดลง คงมีแต่คนที่พยายามจุดนั่นแหละที่จะต้องคอยโหมด้วยตัวเอง สุดท้ายก็เหนื่อยเอง ไม่ก็ไหม้ตัวเองเสียอีกต่างหาก แต่ถ้าเราไปเผาตัวเองหรือไม่ก็แปรเป็นไฟด้วยแล้ว มันก็เป็นโรคนี้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดกันพอดี

มันไม่แปลกหรอกครับที่เราจะรู้สึกอิจฉาริษยาคนอื่นบ้างในบางครั้ง เราก็เป็นคนที่ยังไม่บรรลุมรรค 8 แต่คำถามคือเราจะปล่อยให้ตัวเองถูกโรคนี้กลืนกินตัวเราแค่ไหน ถ้ามีคนที่เป็นโรคนี้อยู่ใกล้เรา เราจะติดโรคนี้มาจากเขาไหม หรือจะสร้างภูมิคุ้มกันให้เราหายจากโรคนี้เร็วๆ

จะตอบคำถามนั้นได้ ก็คงต้องถามว่าเราเลือกจะ “อยู่กับมาร” หรือจะ “กลายเป็นมาร” แล้วล่ะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page