10 เทรนด์ผู้บริโภคกับเทคโนโลยีที่นักการตลาดต้องจับตามองใน 2014 จาก Ericsson
ในฐานะเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีโทรคมนาคมของโลก Ericsson ก็ได้ออกรายงานวิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภคที่น่าสนใจของปี 2014 โดยดูว่าอะไรบ้างที่จะเข้ามามีบทบาทกับพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนไปบ้าง โดยเทรนด์ดังกล่าวแบ่งเป็น 10 หัวข้อสำคัญๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ครับ
1. แอพสำหรับทุกอุตสาหกรรมและบริการ
จากการที่ Smartphone และ Tablet ขยายตัวอย่างมาก นั่นเลยทำให้พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เนตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเมื่อคนจำนวนมากคุ้นเคยกับการใช้งานอินเตอร์เนตแล้ว ความต้องการของบริการผ่านอินเตอร์เนตจะเพิ่มขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการกับใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่ง Mobile App เหล่านี้เองที่จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในอีก 1-3 ปีข้างหน้า
2. รหัสผ่านที่มาจากตัวเราเอง
รหัสผ่านเป็นของคู่กับการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์โดยเฉพาะเมื่อบริการบนออนไลน์มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่การใช้รหัสผ่านจะเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากไปกว่าเดิม สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคตคือนวัตกรรมที่ทำให้เราใช้รหัสผ่านได้ปลอดภัยมากกว่าการจำตัวอักษรและตัวเลขเฉยๆ ตัวอย่างเช่นการใช้ Touch-Id ใน iPhone 5s เป็นต้น จากการสำรวจของ Ericsson พบว่าผู้บริโภคจำนวนมากคาดหวังจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการแก้ปัญหาเรื่องรหัสผ่าน อย่างเช่นการใช้กล้องเพื่อตรวจดวงตา การใช้หน้าจอ TouchScreen จดจำลายนิ้วมือ ฯลฯ
3. การเข้าถึงข้อมูลของ “ตัวเราเอง”
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ การบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งานก็มีความละเอียดมากขึ้นและสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ Smartphone รุ่นใหม่ๆ สามารถบันทึกค่าต่างๆ ได้มากกว่าเป็นค่าโทรศัพท์ เราจะเห็นการบันทึกค่าต่างๆ เช่นก้าวที่เดินในแต่ละวัน จำนวนระยะทางที่วิ่ง ฯลฯ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงอุปกรณ์ประเภท Wearable Device ที่จะบันทึกค่าได้ละเอียดและสะดวกขึ้นไปอีก เช่นแหวนที่วัดความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ Wristband ที่บันทึกพฤติกรรมการนอน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องการในอนาคต
4. อินเตอร์เนตทุกที่ ทุกเวลา
เราคงจะใกล้ลืมยุคของการเล่นอินเตอร์เนตเฉพาะที่บ้านหรือที่ร้านเนตคาเฟ่ในไม่ช้า ความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยี Mobile Internet จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่แบบไหนก็ตาม ทั้งท้องถนน ภูเขา ชายหาด ฯลฯ
5. Smartphone จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล
Smartphone ทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตและข้อมูลบนโลกดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือคลิปวีดีโอต่างๆ ผนวกกับความสามารถของ Mobile Internet ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลที่เคยมีนั้นน้อยลงเรื่อยๆ แม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาเองก็สามารถทำให้ประชากรจำนวนมากเข้าถึงอินเตอร์เนตได้แม้จะไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็ตาม นี่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมหลายๆ อย่าง รวมทั้งโครงสร้างสังคมในอนาคต
6.การตระหนักในความเสี่ยงบนโลกออนไลน์
แน่นอนว่าพอเราใช้งานโลกออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไป แม้แต่ในรายงานการสำรวจของ Ericsson เองก็ยังระบุว่า 56% ของผู้ใช้งานชาวไทยมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลลับของตน นั่นทำให้ผู้บริโภคจะเริ่มมีความระมัดระวังในการให้ข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราระมัดระวังการใช้งาน ATM
7. โลกของ Video ที่มาจากเพื่อน
ในบรรดาข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้น ประเภทของข้อมูลที่คนมักเลือกเป็นอันดับต้นๆ คือการชมคลิปวีดีโอ อย่างไรก็ตาม สถิติที่น่าสนใจคือเราจะเริ่มมีการเลือกชมวีดีโอต่างๆ ด้วยตัวเองน้อยลง แต่กลับถูกแนะนำและได้รับอิทธิพลจากเพื่อนรอบข้างมากกว่า (38% ของผู้บริโภคดูคลิปวีดีโอที่ได้รับการแชร์มาจากเพื่อนหลายครั้งในรอบสัปดาห์ ขณะที่อีก 22% ยอมรับว่าแชร์คลิปวีดีโอหลายครั้งให้กับเพื่อนตัวเอง)
8. การเห็นและจับต้องได้ของ “ข้อมูล”
เมื่อเราเข้าไปใช้งานข้อมูลดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มมีความอยากที่จะรับรู้และสัมผัสถึงปริมาณข้อมูลนั้นๆ มากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพราะเราต้องการความสามารถที่จะควบคุมมัน นั่นทำให้คนจำนวนมากเริ่มมีการลงแอพประเภทวัดความเร็วอินเตอร์เนตของตัวเอง เช่นเดียวกับมีแอพวัดปริมาณการใช้ข้อมูลอยู่ใน Smartphone นี่อาจจะเป็นเสียงสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูลที่ตัวเองใช้อยู่มากกว่าแต่ก่อน
9. เซ็นเซอร์ในทุกสิ่ง ทุกสถานที่
ด้วยความล้ำของเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์พกพาของเราสามารถมีเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากมายหลายประเภท ผู้บริโภคเองก็เริ่มมีความคาดหวังว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาอำนวยความสะดวกมากขึ้นในอนาคต เช่นการที่สถานีรถไฟเช็คตัวตนของผู้โดยสาร ประตูออฟฟิศเช็คว่าเป็นพนักงานแล้วเปิดประตูให้ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์นี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์และยานพาหนะอื่นๆ อีกด้วยเช่นในรถยนต์ที่สามารถเช็คระยะห่างกับรถคันอื่นเพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุเป็นต้น
10. เล่น หยุด เล่นต่อ ได้ทุกที่
การที่ผู้บริโภคมีอุปกรณ์พกพาที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและคอนเทนต์ต่างๆ ได้ ทำให้พวกเขามีอิสระในการที่จะเสพคอนเทนต์ได้โดยไม่ติดอยู่กับข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา ยกตัวอย่างคือการดูวีดีโอระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้า หยุดคลิปเมื่อไม่สะดวกหรือต้องเดิน แล้วดูต่อภายหลัง นี่ยังรวมไปถึงการดูรายการทีวีที่เริ่มมีการให้บริการ Streaming มากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
Comments