top of page

3 ความผิดพลาดของการทำ Personal Branding บนโลกออนไลน์

เดี๋ยวนี้เรามีการพูดถึงการทำ Personal Branding ด้วย Social Media กันเสียเยอะ อาจจะเพราะหลายๆ คนเริ่มเห็นช่องทางที่จะใช้ Social Media อย่าง Facebook หรือ Blog ทำชื่อเสียงให้ตัวเองเพื่อจะสามารถกลายเป็นบันไดไปสู่เป้าหมาย ความสำเร็จ หรือรายได้ต่างๆ 

แน่นอนว่าช่วงหลังๆ เราจึงเห็นการเกิด Facebook Page และ Blog มากมายในหลายๆ เนื้อหาหรือความสนใจ รวมถึงการพยายามทำเทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างฐานคนติดตาม คนอ่าน ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็จะกลายเป็นต้นทุนทางสังคม (ออนไลน์) ให้กับคนสร้างนั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม มันก็ใช่ว่าการเดินแบบ “สูตรสำเร็จ” จะเวิร์คเสมอไป การเปิดเพจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก (ทำ 5 นาทีก็เสร็จ) หรือการเพิ่มฐานแฟนก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร (ถ้าคิดง่ายๆ ก็คือใช้เงินซื้อโฆษณานั่นแหละ) แต่เอาจริงๆ แล้วการทำ Personal Branding ก็มีหลายๆ จุดที่อาจจะทำให้คนที่อยากทำนั้นผิดพลาดหรือหลงทางกันง่ายๆ บล็อกนี้ผมเลยลองสรุป 3 ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำ Personal Branding ที่มักพบกันบ่อยๆ แล้วกันนะครับ

1. การพยายามจะรู้และเป็นทุกอย่าง

จริงอยู่ว่าแต่ละคนล้วนมีความสนใจที่หลากหลาย มีเรื่องราวที่อยากพูดอยากเล่ามากมาย ในชีวิตประจำวันเราไปกินอะไรมา ไปเที่ยวไหนมา ไปดูหนังเรื่องอะไรมา แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องพูดในทุกๆ เรื่องเสียเมื่อไร สิ่งที่คนจะทำ Personal Branding จะต้องคิดอยู่เสมอคือการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์กับ “แบรนด์” ของตัวเอง เนื้อหาและคอนเทนต์ต่างๆ ต้องเป็นเหมือนจิ๊กซอร์ประกอบภาพตัวตนนั้นให้เด่นชัดและแข็งแรง ถ้าเราพยายามจะเป็นทุกอย่าง เล่าทุกอย่าง ส่วนประกอบของภาพก็จะจับฉ่าย ไม่ได้น่าสนใจ สับสน ซึ่งนั่นจะเป็นจุดอ่อนให้คนอื่นที่มีความชัดเจนมากกว่าสามารถเอาชนะได้ง่ายๆ นั่นแหละ

2. การไม่ทำคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ

อย่างที่ผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่าการเปิด Facebook ทำ 5 นาทีก็เสร็จ จะสร้างบล็อกก็ใช้เวลาไม่นานนัก (ถ้าทำบล็อกสำเร็จรูปนั้นก็อาจจะเสร็จได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง) แต่สิ่งที่ตามมาต่อคือภาระอันหนักอึ้งของการขยันอัพเดทและทำให้คนที่เราอยากให้ติดตามนั้นเห็น “แบรนด์” ของเราอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่มักจะตามมาคือหลายๆ คนไม่สามารถผลิตคอนเทนต์หรือทำการสื่อสารแบรนด์ตัวเองออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ทำเป็นครั้งคราว นานๆ ที บ่อยเข้าก็ลืมด้วยความขี้เกียจหรือไม่ได้ตั้งใจจะทำ พอเป็นอย่างนี้แล้วการทำ Personal Branding ก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพไป

พูดถึงเรื่องนี้แล้วอาจจะทำให้เห็นปัญหาต่อเนื่องคือเรื่องการหาคอนเทนต์ที่เอามาทำ Personal Branding นั่นเอง เพราะหลายๆ คนจะพบความจริงว่าการทำคอนเทนต์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วันแรกๆ อาจจะพอนึกออกอยู่บ้างว่าจะเขียนอะไร จะโพสต์อะไร แต่พอเริ่มเข้าสู่วันที่ 30 และต่อไปเรื่อยๆ แล้ว “ของ” ในมือก็เริ่มจะหมดไปและไม่รู้จะไปหาเติมจากไหน

และนี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการทำคอนเทนต์ประเภทไปก๊อปเขามา หยิบคำคมคนอื่นมาใช้ ฯลฯ ซึ่งมักจะกลายเป็นปัญหาภายหลังเสียอีกต่างหาก

3. การ Over-Claim ตัวเอง

สิ่งที่ผมมักจะบอกคนที่มาถามผมเรื่อง Personal Branding บ่อยๆ คืออย่าได้พยายามโม้เกินจริง หรือการเคลมตัวเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ (ประเภทเรียกตัวเองว่าเป็นกูรู ผู้เชี่ยวชาญ โค้ช ผู้ประสบความสำเร็จ ฯลฯ)

อย่าลืมว่าบรรดาคำเรียกเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่คนอื่นมอบให้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะบอกว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเราพูดเกินจริงโดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือสิ่งที่พิสูจน์ได้มันก็จะกลายเป็นครหาและทำลายแบรนด์ของตัวเราเองนั่นแหละ

การพูดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราสามารถเสกสรรปั้นแต่งคำพูดที่ยกยอตัวเองยังไงก็ได้ แต่ถ้าคนอื่นพบว่ามันไม่จริง มันไม่ใช่ มันก็จะมีแต่ทำลายชื่อเสียงของคุณเองเปล่าๆ จริงอยู่ว่ามันอาจจะมีคนบางคนที่เชื่อคุณ แต่อย่าลืมว่าถ้า “ชื่อเสีย” ของคุณเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ “ชื่อเสียง” ของคุณโตต่อไปไม่ได้

สุดท้ายผมมักพูดเสมอว่ามันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “การพูดนำเสนอความจริง” กับ “การยกยอตัวเอง” อย่างหลังอาจจะทำให้มันดูหวือหวา ดูน่าตื่นเต้น แต่ถ้าคนพบความจริงว่าคุณไม่ได้เก่งอย่างที่พูด ไม่ได้รู้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง มันก็จะทำลายสิ่งที่คุณสร้างอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อย่างแรกนั้นอาจจะเติบโตช้า แต่มันจะโตอย่างยั่งยืนและยากที่ใครจะมาทำลายคุณได้

นี่คือตัวอย่างเรื่องที่เรามักพบในปัจจุบันของการทำ Personal Branding และผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะประสบพบเห็นเรื่องแบบนี้กันอยู่บ่อยๆ ยังไงถ้าคุณคิดจะ “ดัง” ด้วยวิธีออนไลน์แล้วล่ะก็ ลองคิดเรื่องเหล่านี้กันไว้ก็ดีนะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page