top of page

3 ปัญหาที่มักเกิดขึ้นแล้วทำให้ทำคอนเทนต์ไม่เวิร์ค

เวลาพูดถึงปัญหาของการทำคอนเทนต์นั้น เอาจริงๆ มันก็มีหลากหลายมากมายอยู่พอสมควรชนิดว่าถ้าเขียนเล่าก็คงเขียนเป็นหนังสือเป็นเล่มได้เลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นมันก็มักจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คอนเทนต์ไม่เวิร์คอย่างที่ควรจะเป็นอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมขอเลือกสรุปปัญหาที่ผมเห็นบ่อยๆ มาดังนี้

1. พยายามยัดเนื้อหามากเกินไปใน 1 คอนเทนต์

ถ้าเราไปคุยกับครีเอทีฟเก่งๆ แล้ว ทุกคนก็มักพูดไปทางเดียวกันว่าคนเรามีเวลาดูคอนเทนต์วันนี้น้อยมากๆ เราอาจจะมีเวลาในการดูคอนเทนต์แต่ละชิ้นแค่ 1-2 วินาทีในแว้บแรกเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้ในหนึ่งคอนเทนต์ก็ควรไม่พูดหลายๆ เรื่อง

และต่อให้เป็นงานวีดีโอ ที่มีเวลาเยอะก็จริง แต่สุดท้ายการพยายามพูดหลายๆ เรื่องก็ย่อมไม่เป็นผลดีเท่าไรเพราะคนดูก็อาจจะไม่โฟกัส และเกิดความสับสนเอาได้ว่าจะเอาอะไร จะพูดเรื่องอะไร

แต่พอเราเป็นคนทำงาน เป็นนักการตลาด เป็นเจ้าของกิจการ เราก็มักอยากพยายามยัดทุกอย่าง “เผื่อ” เอาไว้ก่อน หรือไม่ก็คาดหวังว่าจะให้คนเก็บรายละเอียดให้หมด ซึ่งนั่นก็อาจจะไม่เข้าทีนักเนื่องจากการพยายามยัดเนื้อหาทุกอย่างลงไปก็มีแต่ทำให้คอนเทนต์นั้น “บวม” และมีเรื่องต่างๆ ที่จะสื่อสารมากเกินไป จริงอยู่ว่าการมีครีเอทีฟดีๆ ก็อาจจะพอช่วยให้เล่าหลายๆ เรื่องได้พร้อมๆ กันแต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ และทุกชิ้นเสียเมื่อไรนั่นเอง

2. การนำเสนอคอนเทนต์ในแบบที่ไม่เข้ากับเนื้อหา

ผมมักได้ยินคนพูดถึงเทคนิค / สูตรบ่อยๆ ว่าเวลาโพสต์ต้องโพสต์เป็นอัลบั้มนะ ต้องโพสต์แบบให้จัดเรียงแบบนั้นแบบนี้นะ แล้วทำให้หลายคนยึดเป็นตำราประเภททุกโพสต์ก็ต้องขยันไปทำรูปขนาดต่างๆ เพื่อให้มาโพสต์เป็นอัลบั้มเรียงดูสวยๆ บน News Feed

การโพสต์เป็นอัลบั้มนั้นมันก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ แล้วเอาจริงมันก็ได้ผลดีด้วย แต่มันได้ผลดีกับ “เรื่องบางเรื่อง” และบางเรื่อง บางคอนเทนต์ก็ไม่ได้เหมาะกับการเล่าแบบนั้นเลย บางคอนเทนต์อาจจะเหมาะกับการเล่าด้วยรูปๆ เดียวแล้วเขียนบรรยายก็พอ หรือบางคอนเทนต์อาจจะเหมาะกับการทำเป็นวีดีโอ บางอันเหมาะกับทำเป็นบทความ ฯลฯ

สิ่งที่ผมมักจะเตือนคนมาเรียน Content Marketing กับผมบ่อยๆ คือมันไม่มีสูตรตายตัวในการโพสต์แบบต่างๆ เสียทีเดียว หากแต่คนทำงานก็ต้องไปดูว่าด้วยเนื้อหาของคอนเทนต์แบบนี้นั้น ควระจเลือกทำแบบไหนมากกว่ากันซึ่งเราก็ต้องเลือกอันที่เหมาะสมและลงตัวที่สุดมากกว่าจะดึงดันพยายามโพสต์เป็นเทคนิคหรือเป็นสูตรมาตราฐานนั่นเอง

3. คอนเทนต์ยาวไป / สั้นไป

ไม่มีใครบอกได้หรอกครับว่าคอนเทนต์ที่ดีนั้นยาวเท่าไร หรือควรสั้นขนาดไหน ซึ่งถ้าเราไปนั่งคุยกับคนทำคอนเทนต์เก่งๆ แล้วก็มักจะตอบว่าอยู่ที่ “พอดี” กับสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อสาร (ซึ่งคุณก็ต้องเลือกมาอย่างดีแล้ว) และทำให้พอดีคือไม่ยาวเยิ่นเย้อจนน่าเบื่อ แต่ก็ต้องไม่สั้นจนชนิดไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ

แม้ว่าเราอาจจะได้ยินว่าการโพสต์ที่ดีควรจะโพสต์สั้นๆ นั้น มันก็ไม่ได้แปลว่าโพสต์ยาวๆ จะไม่เวิร์ค เพราะลูกค้าหลายๆ คนที่สนใจก็ยินดีที่จะอ่าน คอนเทนต์หลายเพจก็ยาวแต่คนก็ตั้งตารอ (อย่างเช่นกรณีเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง เป็นต้น) ทีนี้พอหลายๆ คนไปยึดติดกับสูตรแทนที่จะดูความเหมาะสมของคอนเทนต์ตัวเอง ผลที่เกิดขึ้นก็เลยกลายเป็นว่าชิ้นงานออกมาประหลาดๆ และไม่ตอบโจทย์คนที่เป็นกลุ่มหมายอย่างที่ควรจะเป็น

จริงๆ มันก็มีปัญหาอย่างอื่นมากกว่านี้ซึ่งจะขอยกยอดไว้เล่าในบล็อกต่อๆ ไปนะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page