3 สิ่งที่คนทำ Digital Marketing ควรมี (แต่ดันไม่มีการสอนกัน)
นอกจากการเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการวางแผนการตลาดดิจิทัลแล้วนั้น หนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนมักจะขอให้ผมช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ คือการหาคนมาทำงานให้ นั่นยังไม่รวมกับที่ภรรยาของผมเองก็เป็น HR ใหักับดิจิทัลเอเยนซี่ซึ่งก็ต้องวนเวียนกับการหาคนมาทำงานการตลาดดิจิทัลนี่แหละ
อันที่จริง การหาคนมาทำการตลาดดิจิทัลนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ที่บอกว่ายากนั้นก็คงเพราะเราไม่มีการเรียนการสอนการตลาดดิจิทัลกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เท่าไรนัก ที่ทำกันอยู่ในตลาดก็ประเภทเรียนรู้จากประสบการณ์แล้วก็สอนต่อๆ กันมา บ้างก็ใช้วิธีศึกษาเอง ทำให้บอกว่าว่ามาตรฐานของคนทำงานตรงนี้อยู่ตรงไหน มีตัวจริงตัวปลอมอยู่เกลื่อนตลาดประเภทบอกว่ารู้เรื่องดิจิทัล ทำดิจิทัลมาหลายปี แต่พอถามความรู้กันจริงๆ ก็ไปไม่ถูก ตอบไม่ได้ แถมด้วยการที่การตลาดดิจิทัลเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานและเพิ่งจะมาบูมกันในช่วงปีสองปี ปัญหาสร้างความหนักใจของหลายๆ คนคือจะหาคนที่ไหนมาทำ (และผมบอกได้อย่างหนึ่งว่า คนที่บอกว่ารู้กับคนที่ทำเป็นเนี่ย ก็อีกเรื่องเลยนะฮะ)
ส่วนที่ว่าง่าย คือถ้าคุณคิดเสียว่าไม่ต้องไปควานหาพวกแก่กล้าในตลาด (ซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว) แต่เลือกจะหาคนรุ่นใหม่มาปั้นเอง มันก็อาจจะไม่ได้ยากเท่าไรนัก (เมื่อเทียบกับอย่างแรก) ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีที่ผมทำในที่ทำงานปัจจุบัน เพราะผมรู้ว่าเรื่อง Content Marketing นั้นคงไม่เคยมีใครเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว (ส่วนคนที่รู้เรื่องนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงกันเลย) แถมถ้าจะเป็น Digital Content ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ผมเลยเลือกจะสร้างทีมจากคนรุ่นใหม่ที่ผมถ่ายทอดความรู้ไปจะง่ายเสียกว่า (แน่นอนว่าพวกเขาคือทีมที่ผมค่อนข้างภูมิใจเลยล่ะครับ)
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผมนั้น ผมมักจะแนะนำหลายๆ คนที่มาถามผมว่าจะเลือกคนแบบไหนมาทำงานดิจิทัลดี จะเอาคนแบบทำงานเอเยนซี่มาก่อนดีไหม หรือคนเรียนจบหรือทำการตลาดมา ฯลฯ ซึ่งเอาจริงๆ ผมว่านั่นเป็นการคิดแบบพื้นฐานเวลาจะหาคนมาทำงาน “การตลาด” และโดยประสบการณ์ของผมแล้วมันไม่ค่อยจะตอบโจทย์สักเท่าไร (เพราะถ้ามันเวิร์ค การตลาดดิจิทัลเมืองไทยวันนี้คงไปไกลกว่านี้เยอะแล้วล่ะครับ) ในทางกลับกัน เวลาผมสัมภาษณ์คนทำงานนั้น ผมมักจะพยายามมองหาสามอย่างในตัวของพวกเขา
1. มี Digital Lifestyle
ถ้าคุณทำการตลาดดิจิทัลแต่กลับไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบวิถีคนดิจิทัล มันก็คงจะเป็นเรื่องยากที่คุณจะเข้าถึงและเข้าใจวิถีของกลุ่มเป้าหมายของคุณ การใช้ชีวิตแบบคนดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องของแค่การมี Smartphone Tablet เท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการเสพข่าวสาร การใช้แอพพลิเคชั่น ทัศนคติ วิธีคิด ฯลฯ ซึ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่ตำราส่วนมากไม่ได้พูดถึง และการที่คุณจะคิดแต่รอสถิติจากบรรดาเว็บต่างๆ หรือจากเวทีอื่นๆ มาพูดนั้น ผมว่าคุณ “ช้า” ไปหลายก้าวมาก เพราะถ้าคุณเป็นคนดิจิทัลจริงๆ คุณแทบไม่ต้องรอสถิติต่างๆ มาอธิบายหรือมาเป็นหลักฐานเพื่อบอกว่าคนดิจิทัลเป็นอย่างไร เพราะคุณรู้มันโดย “ธรรมชาติ” ไปแล้ว สถิติมันเป็นเพียงแค่เครื่องยืนยันให้กับความคิดของคุณเท่านั้น มันเหมือนกับคุณไม่ต้องมาบอกหรอกว่า Facebook คนใช้กี่คน LINE เล่นกันยังไง เพราะคุณรู้จากการที่คุณใช้ชีวิตคลุกกับมันอยู่แล้วว่า “ใครๆ ก็เล่น” หรือ “เขาเล่นกันแบบไหน” ซึ่งการที่คุณมี Digital Lifestyle นี่แหละ ที่จะเป็นทุนสำคัญให้คุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย มากกว่าแค่นั่งเทียนคิดงานโดยอ้างอิงจากสถิติต่างๆ (เอาจริงๆ ผมเองก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรสักสถิติต่างๆ ด้วยซ้ำเวลาคิดงาน)
2. มี Digital Skills
สิ่งที่ผมมักให้ความสำคัญควบคู่ไปกับความรู้คือเรื่องของทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานในการปลูกฝังวิธีคิดและทัศนคติต่อไป นอกจากนี้แล้ว Digital Skill คือการบ่งบอกธรรมชาติการคิด / ทำงานของคนๆ นั้นในระดับหนึ่ง Digital Skill เหล่านี้เช่นวิธีการค้นหาข้อมูล วิธีการติดต่อกับเพื่อนร่วมงาน วิธีบริหารจัดการเอกสาร ฯลฯ ซึ่งคำตอบที่แต่ละคนตอบมาจะบอกได้ว่าคนๆ นั้นมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในทักษะดิจิทัลมากแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นน้องบางส่วนของทีมผมจะเป็นพวกที่ลุ่มหลงกับการค้นหาข้อมูลบนออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาจะไม่ค้นหาข้อมูลแค่บน Google อย่างเดียว แต่รู้ว่าหากจะหาข้อมูลประเภทใดประเภทหนึ่งเฉพาะแล้วจะต้องไปค้นหาที่ไหน สิ่งเหล่านี้ผมมักจะพยายามมองหาจากคนที่ทำงานด้วยเพราะมันเป็นตัวแสดง Sense ด้านดิจิทัลอยู่พอสมควร
3. มี Digital Vision
ข้อนี้เป็นข้อที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะสำหรับผมแล้ว คนที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องดิจิทัลนั้นคือคนที่จะเห็นภาพว่าสิ่งที่การตลาดกำลังทำบนดิจิทัลจะต้องเป็นอย่างไร จะต้องทำอะไร จะปรับตัวอย่างไรในอนาคต คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ใช่แค่ “ชอบ” แต่คือคนที่ “เชื่อ” ว่าดิจิทัลนั้นสำคัญการธุรกิจและการตลาดและพร้อมจะทุ่มเทตัวเองในการเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นนั่นแหละครับ) อย่างไรก็ตาม การหาคนที่มีวิสัยทัศน์เรื่องดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้แต่ในระดับ Manager / Director (หรือแม้แต่ MD หรือ CEO) ก็ใช่ว่าจะมี Digital Vision แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะหลายๆ คนโตมากับ Traditional Marketing แล้วจับผลัดจับผลูได้บริหารการตลาดดิจิทัล แต่ไม่ได้คลั่งไคล้หรือลุ่มหลงมันจริงๆ สักเท่าไร สิ่งเหล่านี้ลองสังเกตได้เวลาตอบคำถามว่าทำไมถึงการตลาดดิจิทัล หรือทำไมถึงสนใจเรื่องๆ นี้นั้น พวกเขามักจะตอบคำถามแบบกลางๆ หรือเป็นเหมือนสคริปต์ รวมไปทั้งสีหน้าท่าทางที่ไม่ได้ “อิน” ไปกับมันสักเท่าไร
3 อย่างข้างต้นคือสิ่งที่ผมค่อนข้างให้ความสำคัญมากนอกเหนือจากไปเรื่องความรู้เรื่องการตลาดดิจิทัล ทั้งนี้เพราะผมมองว่าถ้าคนไหนมี 3 อย่างข้างต้นแล้ว การจะใส่ “ความรู้” ให้พวกเขานั้นไม่ใช่เรื่องยากนัก ซึ่งผิดกับหลายๆ คนที่บอกว่ามีความรู้เรื่องการตลาดดิจิทัลแต่ขาดสามอย่างนั้น ก็จะกลายเป็นแค่คนที่ “รู้” แต่ขาดความ“เข้าใจ” และ “เข้าถึง” ไปเสียส่วนใหญ่นั่นแหละครับ
ภาพประกอบซื้อและดาว์นโหลดอย่างถูกต้องจาก Graphicstock
Comments