3 สิ่งที่มักทำให้สถานการณ์ของปัญหาแย่ลงกว่าเดิม
ในการทำงานร่วมกันนั้น มันเป็นเรื่องปรกติที่เรามักจะเกิดปัญหาขึ้นและสร้างความวุ่นวายให้กับคนทำงานอยู่เสมอๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการจัดการกับปัญหานั้นก็สามารถทำให้ปัญหาที่อาจจะดูหนักหนาสามารถทุเลาลงได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจัดการกับปัญหาผิดวิธีก็จะทำให้มันแย่ลงกว่าเดิมด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ของผมนั้น หลายๆ ครั้งที่ปัญหาแรกเริ่มไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่คนทำงานเองนี่แหละที่ทำให้มันบรรลัยมานักต่อนักแล้ว บล็อกนี้เลยขอเรียงเรียง3 สิ่งที่ผมเห็นบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดสถานการณ์เหล่านั้นเพื่อเตือนใจแล้วกันนะครับ
1. นี่ไม่ใช่ปัญหา
ปัญหาใหญ่และน่าจะสำคัญที่สุดเวลาเกิดปัญหาคือคนทำงานไม่มองว่ามันเป็นปัญหา (ฟังแล้วงงๆ ไหมฮะ ^^) ที่ผมยกเรื่องนี้มาพูดเรื่องแรกก่อนเลยเพราะหลายๆ ครั้งเรามักเจอว่าคนทำงานด้วยกันเองหรือหัวหน้างานมักมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเล็กน้อย หรือไม่ได้สลักสำคัญอะไร แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นปัญหาอย่างนั้น บางครั้งก็แก้ไขแบบขอไปทีโดยไม่ได้จริงจังอะไร และสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไอ้ปัญหาที่ไม่ได้แก้เนี่ยแหละกลายเป็นไฟไหม้ฟาง หรือกลายเป็นหนามยอกอกคนทำงานในภายหลังเอาได้ ฉะนั้นแล้วมันจึงจำเป็นมากที่คุณต้องหัดทบทวนสถานการณ์อยู่บ่อยๆ ว่านี่เป็นปัญหาหรือไม่ใช่ปัญหา รวมทั้งการมองในหลายๆ บทบาท ไม่ใช่บทบาทของคุณเพียงคนเดียว เพราะหลายๆ ทีเราอาจจะพบว่าตัวเรามองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่กับลูกค้าหรือคนที่เจอสถานการณ์นั้นเป็นปัญหาอย่างรุนแรงมาก และนั่นเป็นสิ่งที่คุณควรสนใจมากเลยทีเดียว
2. นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน
อีกหนึ่งสถานการณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นเวลาเกิดปัญหาขึ้นมาคือคนทำงานมองแล้วหันมองหน้าคนรับผิดชอบแล้วก็เดินจากไป สถานการณ์แบบนี้แหละที่ทำให้คนทำงานด้วยกันทำลายความเป็นทีมและปัญหาเองก็อาจจะหนักกว่าเดิมได้ ลองนึกภาพทีมฟุตบอลที่มีปัญหาผู้เล่นฝั่งใดฝั่งหนึ่งทำผิดพลาดบ่อยหรือเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่า คุณว่าถ้าทั้งทีมที่เหลือปล่อยให้ผู้เล่นฝั่งนั้นรับกรรมต่อไปเพราะมองว่านี่ไม่ใช่ตำแหน่งของฉัน ฉันไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ทีมจะเป็นอย่างไร? แล้วสถานการณ์จริงๆ คุณควรจะทำอย่างไรกัน? นี่เป็นคำถามที่ผมมักถามคนทำงานด้วยกันบ่อยๆ ว่าเราอยู่ภาวะของการเป็นทีมหรือตัวใครตัวมันกัน ยิ่งเมื่อถึงเวลาที่เกิดปัญหากับลูกค้าของเราแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าการหาคนรับผิดชอบคือการช่วยกันหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรเพื่อสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้
3. รุมแก้ปัญหาโดยไม่วางแผน
ในทางตรงกันข้ามกับการไม่มีใครสนใจแก้ปัญหา อีกสถานการณ์หนึ่งที่พังไม่เป็นท่าเหมือนกันคือคนตื่นตูมแล้ววิ่งวุ่นจนเสียกระบวน แก้ปัญหากันอย่างไร้ระบบหรือตัดสินใจโดยไม่ได้ปรึกษาคนที่เกี่ยวข้อง ผลสุดท้ายคือการแก้ปัญหาเละเทะ แล้วก็เสียโอกาสที่ควรจะเป็น ลองสมมติจากสถานการณ์ข้อเมื่อกี้เรื่องทีมฟุตบอลดูก็ได้ครับ ถ้าทุกคนพร้อมใจกันแห่ไปช่วยผู้เล่นฝั่งที่มีปัญหาจนลืมสนใจหน้าที่ตัวเอง หรือเล่นไม่เป็นไปตามระบบที่ควรจะเป็น ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้ดีไปกว่าเดิมเลย ทางที่ดีคือการตกลงและทำความเข้าใจว่าทีมจะปรับแผนอย่างไรเพื่อช่วยฝั่งที่มีปัญหาในขณะที่ทีมยังสามารถเล่นต่อและสร้างโอกาสทำประตูได้ เช่นเดียวกันกับเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ทีมงานควรจะตั้งสติแล้วหาทางออก “ร่วมกัน” นั่นแหละครับ
Comentários