top of page

4 ความผิดพลาดที่มักเกิดกับร้านค้าออนไลน์

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อสินค้าออนไลน์อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่สินค้าบรรดา Gadget ต่างๆ ตลอดไปจนถึงสิ่งอื่นๆ ที่เริ่มมีขายมากขึ้นเรื่อยๆ บนออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็เพราะความสะดวกสบายซึ่งผมเชื่อว่าคนดิจิทัลหลายๆ คนเองก็คงเริ่มมีนิสัยคล้ายๆ กัน

แน่นอนว่าจากโอกาสเหล่านี้จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะอยากเปิดร้านขายของออนไลน์กัน เพราะมันน่าจะสามารถเป็นธุรกิจอย่างดีได้ด้วยต้นทุนที่ไม่เยอะมาก (เพราะคุณไม่ต้องไปเสียค่าเช่าสถานที่หรือหน้าร้านแต่อย่างใด)

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้เราจะมีร้านขายของออนไลน์เพิ่มขึ้นกันมากมายแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่ทุกร้านที่จะประสบความสำเร็จ บางตำราอาจจะพยายามบอกให้ร้านค้าพยายามสร้าง Traffic มาที่หน้าร้านด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่สามารถปิดการขายได้ และนั่นอาจจะป็นตัวบอกได้อย่างดีว่าแม้การเปิดร้านค้าออนไลน์อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่การใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ แล้วทำให้ร้านค้านั้น “เวิร์ค” อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีหลายๆ เรื่องที่สามารถกลายเป็นจุดผิดพลาดและทำให้คนเบือนหน้าหนีจากร้านเอาได้

1. หน้าร้านดูไม่โปร

สำหรับคนออนไลน์ รูปลักษณ์ของเว็บไซต์หรือ “หน้าร้านออนไลน์” เรียกได้ว่าคือความประทับใจแรก แน่นอนว่าเราคงไม่ชอบถ้าร้านค้าดูก๊องแก๊งๆ จัดออกมาได้ดูเชยหรือไม่สวยงาม เรื่องนี้อาจจะเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยแต่ในความจริงมีผลกับการตัดสินใจของคนที่เข้ามาที่หน้าร้านมากพอสมควร เพราะนั่นคือความน่าเชื่อถือเวลาในแวบแรกที่เห็น ลองคิดถึงลูกค้าใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาที่ร้านของคุณครั้งแรกแล้วเจอร้านที่รกรุงรัง ดูไม่เป็นมืออาชีพ การจัดวางสินค้าไม่เป็นระเบียบ ค้นหาข้อมูลยาก แน่นอนว่ามันอาจจะทำให้ชวนคิดว่าเจ้าของร้านไม่ค่อยมาดูแลร้าน บ้างก็อาจจะทำกันแบบไม่จริงจัง เป็นมือขายสมัครเล่น และสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของร้านไปนั่นเอง

2. ข้อมูลสินค้าไม่เพียงพอที่จะประกอบการตัดสินใจ

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าบางคน ข้อมูลที่ให้คือชื่อสินค้า แล้วก็ราคา แต่จริงๆ ถ้าเรามองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว การจะซื้อสินค้าอะไรนั้น เราต้องล้วนหาข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ เวลาเราซื้อสินค้าในชีวิตจริงยังมีโอกาสได้จับ ได้ลองสินค้า เห็นมิติของสินค้าจริงๆ การมีแค่รูปสินค้าเพียง 1-2 รูปแล้วก็ราคาบอกให้หน้าเว็บย่อมดูน้อยไปอยู่เสียหน่อย สินค้าบางประเภทอาจจะจำเป็นต้องให้ข้อมูลประกอบหลายๆ อย่างเช่นคุณสมบัติอื่นๆ ประโยชน์ วิธีการใช้งาน ฯลฯ เพื่อทำให้คนที่จะซื้อสินค้าสามารถดูและศึกษาเพิ่มเติมได้ จริงอยู่ที่ลูกค้าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับสินค้าอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่เจ้าของร้านต้องคิดให้ออกว่าลูกค้าของเราต้องการข้อมูลอะไรบ้างประกอบการตัดสินใจ หรือข้อมูลแบบไหนที่ทำให้เขาเชื่อใจร้านค้าของเราได้

3. คุณภาพรูปภาพและคอนเทนต์แย่

เรื่องนี้อาจจะสอดคล้องไปกับทั้งข้อ 1 และ 2 เพราะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการใช้รูปภาพที่ดูดีก็แสดงให้เห็นว่าร้านใส่ใจรายละเอียดและจริงจังแค่ไหน และมันคงดูประหลาดๆ ถ้ารูปภาพของสินค้าแตกเวลาขยายรูป หรือถูกถ่ายชนิดที่ดูหยาบๆ ซึ่งนั่นก็เป็นแบบเดียวกับตัวคอนเทนต์ที่อธิบายสินค้าซึ่งก็ต้องจัดระเบียบให้ดูดี ไม่ใช่ก๊อปแปะๆ หรือเรียบเรียงกันด้วยภาษาที่อ่านแล้วสับสน เข้าใจยาก เพราะรายละเอียดเหล่านี้จะเป็นตัวทำให้ร้านของคุณถูกเอาไปเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ เอาได้ง่าย

4. ไม่ลงทุนที่จะโปรโมตร้าน

การเปิดร้านค้าออนไลน์ก็คล้ายๆ กับเปิดเพจบน Facebook นั่นคือใช้เวลาไม่นานในการเปิด แต่การจะทำให้คนรู้จักและสนใจในตัวร้านจำเป็นต้องใช้เวลาและการลงทุนใน “การตลาด” ด้วย การหวังพึ่งเพื่อนแชร์หรือบอกต่อก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ง่ายๆ แต่ใช่ว่าเพื่อนทุกคนจะอยากแชร์หรือบอกต่อร้านของคุณในทุกๆ วันเสียเมื่อไร การลงทุนเพื่อโปรโมตร้านอาจจะถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่เอาจริงๆ มันก็คือการ “ลงทุน” ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อโอกาสทางการขายในอนาคตได้ การทำ SEM / FB Ads ก็เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เจ้าของร้านสามารถทำได้เพื่อให้ร้านของเราเป็นที่รู้จัก ทำให้ลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าเดินเข้ามาหาเราได้ เพราะทุกวันนี้มีคนมากมายที่ Search หาสินค้ากันอยู่แทบทุกนาที (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น)

Commentaires


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page