top of page

5 ข้อน่าคิดจาก Google ว่าทำไมพวกเขาถึงไม่แคร์ปริญญาจากมหาวิทยาลัยนัก

ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ค่อยจะอะไรมากกับเรื่องปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่หลายๆ บริษัทคิดพอสมควร ส่วนหนึ่งคงเพราะผมเองก็ไม่ได้จบการตลาดหรือบริหารแต่อย่างใด (ผมเรียนจบอักษรศาตร์) พอดีกับที่เมื่อวานผมได้อ่านบล็อกของ Venturebeat ที่ว่าด้วยแง่คิดของ Google ในประเด็นนี้ ซึ่งถือว่าน่าสนใจมากๆ และเป็นแง่คิดที่ผู้บริหารยุคใหม่ๆ อาจจะนำมาคิดทบทวนเช่นเดียวกับเด็กจบใหม่ที่ควรเริ่มคิดเกี่ยวกับการงานของตัวเองด้วยเหมือนกัน

บล็อกดังกล่าวนั้นต่อยอดมาจากการให้สัมภาษณ์ของ Laszlo Bock ซึ่งเป็น Chariman และ Head of Hiring ที่ Google โดย Venturebeat นั้นเอาบทสัมภาษณ์ใน The New York Times มาสรุปแง่คิดสำคัญ 5 ข้อ ซึ่งถือว่าดีและเป็นแรงบันดาลใจได้เยี่ยมทีเดียว

คุณไม่ต้องการใบปริญญาเพื่อจะมีพรสวรรค์

Bock ให้ความเห็นว่า “เมื่อคุณมองไปยังคนที่ไม่ได้ไปเรียนหนังสือแต่สามารถหาทาง(มีชีวิตและประสบความสำเร็จ)ให้กับตัวเองได้ พวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนที่ไม่ธรรมดาทั้งสิ้น และเราควรทำทุกวิถีทางเพื่อหาพวกเขาให้เจอ”

หลายธุรกิจอาจจะต้องการวุฒิปริญญาสำหรับการทำงาน แต่ที่ Google นั้นไม่ใช่ข้อจำกัดพื้นฐานแต่อย่างใด เนื่องจากทุกวันนี้มีระบบการเรียนการสอนนอกสถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนจำนวนมากที่สามารถเรียนรู้พร้อมกับพัฒนาทักษะของตัวเองเพื่อจะสามารถทำงานกับบริษัทได้

ตัวผมเอง ก็เจอประสบการณ์ที่สอดคล้องกับแง่คิดนี้พอสมควร (ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน) ผมพบคนหลายคนที่ไม่ได้เรียนตรงสายกับงานที่ทำ แต่พวกเขาล้วนพยายามพัฒนาทักษะและความรู้ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถก้าวไปในสายอาชีพที่ตัวเองอยากทำ ซึ่งจะว่าไปแล้ว คนเหล่านี้น่าสนใจมากกว่าคนที่เรียนจบตรงสายเสียอีก เพราะพวกเขาล้วนมีความพยายามมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับทักษะบางอย่างที่แตกต่างไปจากคนทั่วๆ ไปด้วย

คุณต้องมีทักษะความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่การเป็นแค่ผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ

ปริญญามักจะเหมือนใบประกาศที่บอกว่าคนๆ นั้นมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในแขนงใดแขนงหนึ่ง การได้ปริญญาในสาขาวารสารศาสตร์เหมือนเป็นเครื่องบอกว่าอย่างน้อยคุณก็ “รู้” เกี่ยวกับการเล่าเรื่องและการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ

แต่ใบปริญญาอาจจะไม่ได้บอกว่าคนที่เรียนจบมานั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง พวกเขาสามารถนำเสนองานต่อหน้าผู้คนได้หรือไม่ พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ไหม พวกเขาจะสร้างงานที่คุณต้องการได้หรือเปล่า? มีทักษะการแก้ปัญหาได้ไหม หรือจริงๆ พวกเขาแค่สามารถทำข้อสอบผ่านเพื่อเรียนจบได้?

แง่คิดในเรื่องนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะคนจำนวนมากนั้นมักคิดว่าการเรียนจบคือการบอกว่าคนๆ นั้นมีความรู้ในเรื่อง / ศาสตร์ดังกล่าว แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น แม้ว่าหลายคนอาจจะมีความรู้ในสาขาที่ตนเรียนจบมาก็จริง แต่กลับไม่สามารถเอาความรู้นั้นมาสามารถใช้ในการทำงานจริงได้ ไม่สามารถประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ที่ต้องรับผิดชอบ หรือถ้าเอาหนักๆ เลยคือหลายๆ คน “ทำงานไม่เป็น” (แม้จะเรียนจบมาด้วยเกรดที่ค่อนข้างสูงก็ตาม)

สิ่งที่ควรคำนึงอยู่พอสมควรทั้งในมุมของหัวหน้างานและคนทำงานเอง คือการทำงานจริงๆ นั้นไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฏีหรือตำราแต่อย่างใด หากแต่มันคือการทำงานจริงๆ ที่ต้องอาศัยทักษะหลายๆ อย่างมาประกอบร่วมกัน ซึ่งความรู้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแต่อย่างใด

คุณควรเรียนรู้การคิดวิเคราะห์และใช้ตรรกะให้ดีเยี่ยม

Bock ให้ความเห็นว่ามนุษย์เรานั้นล้วนเกิดขึ้นมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้มาพร้อมกับการคิดแบบเป็นระบบ การใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และนั่นเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน เพราะมันเป็นทักษะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มี

อันที่จริง ทักษะการคิดเป็นระบบนั้นเป็นอะไรที่หาไม่ง่ายนัก ฟังเหมือนแปลก แต่จากประสบการณ์ของผมแล้ว น่าแปลกมากว่าคนจำนวนมากไม่ได้มีทักษะนี้และผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเรามีการเรียนการสอนเรื่องพวกนี้กันมากแค่ไหน (เท่าที่รู้ก็ไม่ได้เยอะด้วย) และนั่นทำให้เกิดปัญหาที่หลายๆ คนมักบ่นเวลาเกิดปัญหาว่า “คิดแบบนี้กันได้ไง (วะ)” หรือพวก “ทำไมถึงคิดแบบนี้กัน” ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนเกิดจากการที่คนทำงานจำนวนมากไม่ได้มีความผิดเป็นระบบ เช่นเดียวกับการใช้เหตุผลเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

ทักษะด้านการใช้ตรรกะและการคิดให้เป็นระบบนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนแต่สำคัญ จากประสบการณ์ของผมแล้ว ถ้าได้ทำงานกับคนที่มีทักษะเรื่องนี้มากๆ นั้นจะยิ่งทำให้งานมีประสิทธิภาพ แถมได้งานที่มีคุณภาพด้วย เพราะคนเหล่านี้จะมีความคิดที่ค่อนข้างแหลมคม เป็นเหตุผลเป็น และที่สำคัญคือทำได้จริง ใช้งานได้จริง ไม่ใช่การทำงานแบบเปล่าประโยชน์แต่อย่างใด

คุณต้องอดทนและมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายของคุณ

Eric Schmidt เคยบอกว่าไว้ว่าสิ่งที่จะบ่งบอกว่าใครจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่คือเรื่องความมุ่งมั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเป็นคนฉลาดแต่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นหรือทุ่มเทก็อาจจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับคนที่พลักดันตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ (แม้ว่าท้ายที่สุดพวกเขาก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายก็เหอะ)

มันเหมือนกับบางคนที่ไม่ต้องอ่านหนังสือ ใช้ชีวิตเรื่อยๆ แต่ก็ได้ A ขณะที่บางคนทุ่มเทอ่านหนังสือกันแบบอดหลับอดนอน ทดสอบแบบฝึกหัดต่างๆ มากมายแต่สุดท้ายก็ได้ B ถ้าคุณดูเกรด คุณก็อาจจะคิดว่าคนแรกน่าสนใจ แต่คนกลุ่มหลังแม้ผลงานจะไม่ดีเท่า แต่สิ่งที่คุณเห็นคุณค่าของพวกเขาคือการที่พวกเขามีไฟในการขับเคลื่อนตัวเองอย่างมาก ซึ่งความมุ่งมั่นนี่แหละที่สำคัญกว่าความรู้ เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เจอปัญหา พวกเขาก็จะพยายามสู้ พยายามแก้ไขอย่างไม่ย่อท้อ ผิดกับกลุ่มแรกที่หลายๆ คนอาจจะหนีปัญหา หรือตีจากไป

ผมเคยดู TED อันหนึ่งซึ่งดีมาก ว่าด้วยเรื่องของ Grit ที่สำคัญมากกว่าเรื่องของ IQ หรือ EQ เสียอีก ผมเชื่อว่าการอธิบายข้อคิดนี้ให้ดีได้นั้น ควรดู TED อันนี้เลยล่ะครับ

ถ้าคุณจะไปเรียนในมหาวิทยาลัย คุณต้องสนใจเรื่องการพัฒนาทักษะของคุณเป็นสำคัญ

Eric Schimdt และ Bock บอกเหมือนกันว่าคนทั่วไปควรไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่การเรียนนั้นไม่ใช่การเรียนเพื่อคุณจะได้ใบปริญญาเพื่อเป็นใบเบิกทางหรือการบอกว่าคุณเก่งและรู้ในเรื่องอะไร หากแต่คุณควรสนใจเรื่องของประสบการณ์การทำงาน ทักษะการทำงานจริงที่คุณสามารถพัฒนาได้ โดย Google เองก็มักมองหาคนที่มีประสบการณ์หรือทำโปรเจคน่าสนใจในช่วงระหว่างฝึกงาน

เรื่องนี้ก็คงเหมือนกับที่ HR หลายคนมักบอกว่าว่าให้พยายามหากิจกรรมหรือโปรเจคต่างๆ ทำระหว่างเรียน เพราะนั่นคือการพิสูจน์ว่าคุณทำงานเป็นหรือไม่ เคยทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือเปล่า การลงมือทำงานจริงของคุณเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมูลค่าเพิ่มที่จริงๆ แล้วนายจ้างล้วนมองหาจากคุณมากกว่าแค่เรื่องของใบปริญญา

ผมเชื่อว่าเรื่องของประสบการณ์การทำงานนั้นเป็นสิ่งที่หัวหน้างานต่างๆ มักจะคิดไปทางเดียวกัน คืออยากได้ “คนทำงานเป็น” มาร่วมงาน มากกว่าคนที่มักบอกว่าเรียนจบอะไรมา และเอาจริงๆ ผมมักให้ความสำคัญกับคนที่ “ทำอะไรมา” และมีความ “อยากทำ” มากกว่าเสียด้วยซ้ำ

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ไว้ผมจะลองเอาเคสและเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับการ Recurit คนจากหนังสือดังๆ มาเล่าสู่กันฟังในบล็อกถัดๆ ไปแล้วกันนะครับ

ภาพจาก:  Shawn Collins/Flickr

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page