top of page

5 นิสัยเสียของพนักงาน / ผู้บริหารที่ทำให้องค์กรไม่พัฒนาไปไหน

ตลอดช่วงที่ผมทำงานมาประกอบกับการเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายองค์กรนั้น ผมเองก็ได้เจอกับพนักงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหารของหลายองค์กรและทำให้ได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของคนประเภทต่างๆ อยู่มากพอสมควร นั่นยังไม่นับการที่ไปบรรยายตามงานต่างๆ ซึ่งก็ได้พบเจอกับคนฟังอีกเยอะแยะ และนั่นเองก็ทำให้ผมพอจะเห็นลักษณะนิสัยและทัศนคติบางอย่างที่อยู่กับองค์กรแบบต่างๆ ซึ่งพอเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พอจะเห็นภาพกันได้เลยว่า คน/องค์กรไหนจะรุ่งหรือร่วง

ที่บอกเช่นนี้เพราะนิสัยหรือทัศนคติหลายๆ อย่างเป็นอุปสรรค์ต่อการปรับตัวในสภาวะที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งผมก็มักจะเอามาเล่าเตือนคนฟังหลายๆ คนอยู่บ่อยๆ ว่าถ้ารู้ตัวว่ามีนิสัยในทำนองนี้ก็รีบแก้ไขเสียก่อนจะสายเกินไป บล็อกวันนี้เลยขอหยิบบางนิสัยที่ผมพูดถึงบ่อยๆ มาลองให้ชวนคิดกันนะครับ

1. ยึดติดกับ “ความสำเร็จ” เดิมๆ

สำหรับหลายๆ คนนั้น การประสบความสำเร็จในอดีตกลายเป็นเหมือนหลักยึดที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมปรับตัว หลายๆ คนเรียกว่าใช้ชุดความคิดในการสร้างความสำเร็จในอดีตเป็นตัวตั้งสำหรับทุกอย่างและไม่ยอมเปิดใจทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องผิด 100% เพราะเรื่องบางเรื่องนั้น ประสบการณ์และองค์ความรู้บางอย่างก็สามารถใช้ได้อยู่เสมอ แต่นั่นก็ใช่ว่าเกิดขึ้นกับทุกๆ เรื่องและกลายเป็นจุดบอดสำหรับหลายๆ คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมทดลองอะไรใหม่ๆ จนสุดท้ายก็กลายเป็นว่าปรับตัวช้ากว่าคนอื่นที่ได้ก้าวไปสู่แนวคิดใหม่ๆ กันแล้ว

2.  ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้

คนอีกประเภทหนึ่งที่ค่อนข้างจะปวดหัวสำหรับคนทำงานด้วยคือพวกประเภทที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่มีความรู้หรือไม่ความสามารถในบางเรื่อง บ้างก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่เข้าใจในสิ่งใหม่ๆ สุดท้ายคนพวกนี้มักจะพยายามดันทุรังตัวเองทำสิ่งที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจโดยไม่ยอมฟังคนอื่นๆ ที่พยายามเข้ามาอธิบายหรือชี้แนะให้ปรับปรุง และท้ายที่สุดงานจำนวนมากก็ล้มเหลวเพราะคนที่รับผิดชอบหรือคนที่ดูแลนั้นไม่ได้รู้และเข้าใจเลยนั่นเอง

3. ไม่ยอมขวนขวายหาทางพัฒนา (ด้วยตัวเอง)

สำหรับบางคนนั้นอาจจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อยู่ก็จริง แต่ปัญหาที่ตามมาคือก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือต้องดื้นรนเพื่อพยายามหาความรู้ หาข้อมูล และพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้มักจะบ่ายเบี่ยงและโยนภาระของการแก้ไขปัญหาไปให้กับคนอื่น หรือรอให้คนอื่นมาแก้ไข บ้างก็อาศัยรอให้คนอื่นมาเล่ามาสอนให้ฟังโดยไม่ขวนขวายด้วยตัวเอง และบางทีก็ทนทำงานแบบไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ เหมือนยอมรับชะตากรรมโดยไม่ได้คิดจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร

4. ไม่ยอมรับคนอื่นที่รู้มากกว่าหรือรู้ต่างไปจากตน

ในยุคที่เรามีความรู้มากมายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายนั้น ก็ไม่แปลกที่เราจะมีหลายๆ คนที่โตขึ้นมากลายเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็นั่นแหละที่หลายๆ คนเองก็ปฏิเสธคนเหล่านี้เพียงเพราะคิดว่าตัวเองนั้นรู้อยู่แล้ว ทำงานมาก่อน เรียนจบสูงกว่า ฯลฯ และมองว่าคนเหล่านี้ไม่ได้รู้มากไปกว่าตนทั้งที่จริงแล้วๆ มิติของความรู้ในปัจจุบันนั้นมีความหลากหลายมากกว่าแต่ก่อนเช่นเดียวกับกระบวนการพัฒนาความรู้ที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง การเปิดรับมุมมองและแง่คิดจากหลายๆ คนเป็นส่วนสำคัญของการต่อยอดความรู้ให้ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น การปิดรับความคิดและมองโดยอคติกับคนอื่นนั้นจะกลายเป็นการตัดโอกาสและทำให้เรามองเห็นความจริงที่ตื้นกว่าที่ควรจะเป็น

5. มองว่าที่เป็นอยู่นั้น “พอแล้ว”

อาจจะจริงที่เรื่องบางเรื่องนั้นยังใหม่หรือยังไม่ใช่เวลาที่ควรลงมือทำ แต่ก็ใช่ว่าคุณจะไม่ต้องรับรู้หรือไม่เอามันกลับมาคิดอะไรเลย ประสบการณ์หนึ่งที่ผมเจอสมัยผมบรรยายเรื่องการตลาดดิจิทัลใหม่ๆ นั้น หลายๆ องค์กรมองว่าพวกเขาดีอยู่แล้ว แข็งแกร่งอยู่แล้ว และไม่ต้องปรับตัวอะไรเรื่อง Social Media แต่อย่างใด (ทุกวันนี้ผมว่าผู้บริหารของเขาคงจะคิดอีกแบบล่ะนะ :P) การตั้งทัศนคติว่าของตัวเอง “ดีอยู่แล้ว” “พอแล้ว” และไม่ต้องการอะไรเพิ่มเข้ามาอีกนั้นกลายเป็นทัศนคติที่ทำให้หลายๆ องค์กรหยุดนิ่งเสียอย่างนั้นและกว่าจะขยับตัวอีกครั้งก็ช้าไปเสียแล้ว

ภาพประกอบซื้อและดาว์นโหลดจาก Bigstock

コメント


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page