top of page

5 วิธีจัดการความกังวลใจของคุณให้ลดลง (หรือหายไป)

ความกังวลมักเป็นที่เรื่องห้ามกันไม่ได้ และหลายครั้งความกังวลนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเราต้องยุ่งยากพอสมควร ทั้งนี้ความกังวลมักนำมาสู่ความหนักใจและทำให้ในหลายๆ สถานการณ์นั้นถึงกับเรียกว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้แล้ว ความกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่หลายๆ คนคิดเช่นเดียวกับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้หายไป

พอเป็นเช่นนี้แล้ว หลายๆ คนจึงมักประสบปัญหาเมื่อความกังวลกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการตัดสินใจต่างๆ หรือถ้าเอาหนักๆ คือทำให้บางคนไม่สามารถได้ก้าวไปข้างหน้าได้ พอเป็นเช่นนี้แล้ว คงจะดีถ้าเรารู้จักวิธีบริหารความกังวลให้กับตัวเอง เพราะแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำให้ความกังวลหายไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะ “จัดการมัน” บล็อกนี้ผมเลยขอเอาไอเดียจาก The Muse มาลองต่อยอดดูว่าการจัดการความกังวลนั้นสามารถทำอย่างไรได้บ้างนะครับ

1. วิเคราะห์ความกังวลของคุณให้ออกมาให้เป็นเหตุผล

หลายๆ คน “รู้สึก” กังวล แต่บอกไม่ได้ว่ากังวลเรื่องอะไร ซึ่งมันก็คงจะดีกว่าถ้าคุณลองใช้เวลาสักนิดวิเคราะห์ให้ออกว่าที่คุณกังวลนั้นเพราะสาเหตุอะไร เรื่องราวที่กังวลนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรบ้างที่คุณควบคุมได้ อะไรที่คุณควบคุมไม่ได้ เพื่อคุณจะได้นึกทางออกได้ว่าจะแก้ไขตรงไหนได้บ้าง

2. ทำให้ความกังวลของคุณ “จับต้องได้”

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเวลาเรามีความกังวลนั้น คือเรามักจะคิดกันแบบวนไปวนมาในหัว เผลอๆ ก็คิดเองเออเองกัน มันเลยจะดีกว่าถ้าคุณความกังวลของคุณมาในแบบ “จับต้องได้” นั่นก็คือเขียนออกมาบนกระดาษ เรียงเรียงมันให้เป็นชิ้นเป็นอันประเภทเขียนแผนผังลำดับความคิด เขียนความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือปัจจัยที่จะทำให้เกิดสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับตัวคุณ ซึ่งพอคุณเริ่มเห็นอะไรจาก “ภาพกว้าง” แบบที่จับต้องได้แล้ว คุณก็จะสามารถถอยออกมาเห็นอะไรมากกว่าการจดจ่ออยู่กับอะไรเพียงอย่างเดียว และนั่นจะช่วยทำให้คุณผ่อนคลายความกังวลได้พอสมควร

3. ยอมรับเสียก่อนว่าคุณไม่สามารถจัดการให้สมบูรณ์ได้ไปเสียทุกอย่าง

สิ่งหนึ่งที่คนเรามักจะไม่สบายใจ คือพอเห็นปัญหาหลายๆ อย่างแล้วหงุดหงิดหรือกังวลกับบางอย่างที่ไม่ได้เกิดจากคุณ ฉะนั้นคุณต้องทำความเข้าใจกับตัวคุณเองเสียก่อนว่าเรื่องบางเรื่องนั้น คุณจะไปบังคับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ สิ่งที่คุณพอจะทำได้คือแก้ปัญหาในส่วนที่คุณสามารถ “จัดการได้” เพื่อให้โอกาสและความเป็นไปได้ของเรื่องที่กังวลนั้นเกิดขึ้นน้อยที่สุด แน่นอนว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนให้เรื่องที่คุณกังวลจะเกิดขึ้นเหลือความเป็นไปได้ 0% แต่มันสำคัญที่คุณจะทำให้ใกล้เคียง 0% ได้เท่าไรต่างหาก

4. ลองวิเคราะห์ความกังวลที่ผ่านๆ มา

ผมสะดุดไอเดียนี้จากบล็อกของ The Muse อยู่ทีเดียว เพราะความกังวลก็อาจจะเป็นนิสัยติดตัวของคุณอยู่เหมือนกัน ผมเองก็เคยมีนิสัยกังวลประหลาดๆ กับเรื่องบางเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องน่าใช้เวลามาวิเคราะห์ว่าความกังวลแต่ละครั้งนั้นเกิดจากอะไร อะไรคือรูปแบบความกังวลดังกล่าว เพราะถ้าคุณสามารถเห็นได้ว่ามันเป็น “นิสัย” ของคุณแล้วล่ะก็ วิธีที่ดีที่สุดในการแก้อาการกังวลดังกล่าวก็คือการแก้นิสัยนั้นแหละ ซึ่งมันก็คงไม่พ้นการยอมรับว่ามันเป็นปัญหาและพยายามแก้มันอย่างจริงจังนั่นแหละ

5. ถอยตัวเองไปทำอย่างอื่นก่อน

สมัยช่วงที่ผมมีปัญหาชีวิตและต้องกังวลกับหลายๆ อย่างนั้น ผมพบว่าช่วงที่ผมไม่ได้ทำอะไรมักจะทำให้ผมครุ่นคิดและติดแหง่กกับความกังวลอยู่มากพอสมควร วิธีแก้อย่างหนึ่งที่ผมชอบทำคือการถอยออกจากความคิดและสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่และเอาสมาธิไปอยู่กับเรื่องอื่นแทนชั่วคราวเช่นการอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ฯลฯ ทั้งนี้เพราะผมรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ตัวเองว่างหรือจมอยู่กับเรื่องนั้นๆ ก็คงจะไม่มีอะไรดีขึ้น และเมื่อผมถอยตัวเองออกไป มันก็ทำให้ผมคลายความตึงเครียดลงไป (บ้าง) และเมื่อต้องกลับมาเผชิญหน้ากับความกังวลใหม่ อย่างน้อยก็ทำให้ผมรู้สึกมีพลังและภูมิต้านทานมากกว่าเดิม (ไม่อย่างนั้นก็คงเละเทะอยู่เหมือนกัน)

อันที่จริง วิธีการแก้ความกังวลใจยังมีอีกหลายวิธี บางวิธีก็อาจจะคาดไม่ถึงอยู่พอสมควรเช่นการไปดูหมอเป็นต้น ถ้าใครมีวิธีอะไรที่ฟังดูเข้าท่าก็มาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

รูปประกอบซื้อและดาว์นโหลดจาก BigStock

Kommentare


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page