top of page

5 สิ่งควรทำในการรับมือกับความเศร้าเพื่อไม่ให้มันฉุดชีวิตคุณจนเกินไป

ผมเชื่อว่าใครๆ ก็ล้วนอยากเจอกับความสุข แต่ในชีวิตของเรานั้นไม่ได้เหมือนนิยายที่จะสุขกันได้ทุกๆ วัน มีหลายๆ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้วทำให้เราพบกับความเศร้า เสียใจ ผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งหลายๆ ทีก็ทำให้เราต้องสะดุด ทรุด หรือแทบหมดแรงกันเลยก็มี

ผมเองก็เป็นคนประเภท Sensitive อยู่พอสมควร เคยมีหลายๆ ช่วงในชีวิตที่เรียกว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้ากันเลยก็ว่าได้ บล็อกนี้ผมเลยขอลองเอาถอดประสบการณ์ส่วนตัวประกอบกับสิ่งต่างๆ ที่อ่านมาว่าเราจะรับมือกับความเศร้าที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไรไม่ให้มันฉุดตัวเราจนเกินไป

1. ยอมรับเสียก่อนว่ามันเกิดขึ้นไปแล้ว

อย่าปฏิเสธความจริง นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องรับให้ได้ แน่นอนว่าหลายๆ ครั้งมันก็สะเทือนใจจนไม่อยากจะเชื่อ แต่เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าเราไม่ยอมรับหรือหาทางหลีกหนีความจริงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นแล้วขั้นแรกๆ ที่เราต้องทำคือการหยุด ตั้งสติ แล้วมองดูกันให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น และยอมรับมันเสียก่อนเป็นอย่างแรก

2. หาคนที่ไว้ใจและแลกเปลี่ยนกับเขา

ผมเข้าใจว่าหลายๆ คนมักพูดว่าเราต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง แต่หลายๆ ทีเราก็ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน และเอาจริงๆ แล้วการแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนอื่นผ่านการสนทนาพูดคุยก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้น และนั่นทำให้เรามองสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

3. หาอะไรทำให้คุณหยุดหมกหมุ่นกับมันมากเกินไป

สำหรับบางปัญหา พอเราคิดกับมันเยอะๆ ก็กลายเป็นว่าทำให้เราจมดิ่งจนมองอะไรไม่ออก บ้างก็รู้สึกท่วมท้นจนเกินไป หลายๆ ครั้งมันเลยจำเป็นที่คุณอาจจะต้องหาอะไรทำเพื่อดึงความสนใจคุณออกไปเสียบ้าง ทำงาน อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ เพื่อให้คุณถอยตัวเองออกจากปัญหาและความซึมเศร้าเสียบ้าง

4. หาอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกดี

หลายๆ คนจะพูดว่าเวลาเจอปัญหาให้เรามองโลกในแง่ดี แต่หลายๆ ทีมันก็ไม่สามารถมองแบบนั้นได้ทันที มันเลยอาจจะเข้าท่าอยู่บ้างถ้าคุณออกไปทำอะไรให้ตัวเองรู้สึกดีเสียบ้าง (แต่ไม่ใช่ถึงขนาดออกทะเลนะฮะ) ผมเองเวลาเครียดๆ บางทีก็ออกไปซื้อหนังสือหรือซื้อของบางอย่างที่ตัวเองอยากได้ กินอาหารอร่อยๆ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้สู้กับความเศร้าที่ถาโถมเข้ามา

5. ดูว่าอะไรคือความผิดพลาด และเราจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ไหม

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ คือการที่เราต้องมีความหวัง และการจะสร้างความหวังได้คือการที่เรามองเห็นว่ายังมีโอกาสแก้ไข หรือทำให้มันดีขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้คือการที่เราต้องมองจากความผิดพลาดแล้วดูว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง จะทำให้มันดีขึ้นได้ไหม ฯลฯ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page