top of page

6 หลักการง่ายๆ เพื่อคอมเมนต์งานให้เวิร์ค

การทำงานให้ Perfect ชนิดไร้ที่ติ ไร้จุดแก้ไขช่างดูเป็นอะไรที่เหมือนฝันและยากจะเกิดขึ้น ในโลกของความเป็นจริงนั้น แน่นอนว่างานต่างๆ ที่ทำขึ้นมาย่อมมีโอกาสที่จะถูกแก้ไขจนหลายๆ คนเป็นที่รู้กันว่าเตรียมใจสำหรับแก้งานอย่างน้อย 1-2 รอบกันได้ (ถ้าเกิดครั้งไหนไม่ต้องแก้เลย อาจจะถึงขั้นจุดพลุฉลองกันเลยทีเดียว)

การแก้ไขงานจึงเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปรกติ ซึ่งการแก้ไขแต่ละครั้งมักตามมาด้วยคอมเมนต์ประกอบเพื่อไกด์ไปสู่การแก้ และส่วนมากการแก้นั้นก็ทำเพืื่อที่จะให้ตรงใจกับผู้ที่ให้คอมเมนต์มานั่นแหละ (ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นลูกค้าหรือเจ้านาย)

แต่ปัญหาที่หลายๆ คนมักเจอรวมทั้งประสบการณ์ของผมเอง คือหลายครั้งที่การแก้ไขงานเหมือนจะดูไร้แนวทางเพราะคอมเมนต์ที่ได้รับมานั้นไม่สามารถนำมาใช้ต่อยอดหรืออ้างอิงอะไรได้ เราจึงมักได้ยินคำพูดเชิงบ่นอยู่บ่อยๆ ว่า

“คอมเมนต์แบบนี้มา ไม่รู้จะแก้อะไรอะไรเลย”

“สรุปต้องการอะไรกันแน่?”

“คอมเมนต์แบบนี้ทำงานเป็นหรือเปล่า?”

ซึ่งจะว่าไปแล้ว พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นก็มักไม่พ้นการเสียเวลา เสียความรู้สึกของผู้ที่ทำงานกัน บ้างก็ทำไปแล้วไม่เกิดผลอะไรที่ดีขึ้น บางทีก็อาจจะแย่จนทำให้งานเสียไปเลยก็มี

การคอมเมนต์ก็เหมือนการไกด์แนวทางให้ผู้ทำงานสามารถนำไปพัฒนาหรือแก้ไขต่อได้ สมัยตอนที่ผมเรียนละครเวทีนั้น การให้คอมเมนต์นักแสดงในส่วนของการกำกับนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าคอมเมนต์ดี ให้แนวทางที่นักแสดงเข้าใจและจับทางได้แล้ว นักแสดงก็จะสามารถแสดงได้ตามที่ผู้กำกับหวัง แต่ถ้าผู้กำกับไม่สามารถคอมเมนต์ได้ดีแล้ว นักแสดงก็อาจจะงง สับสน แสดงแบบครึ่งๆ กลางๆ เอาได้เช่นกัน ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากการทำงานเลย

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าทำอย่างไรให้การคอมเมนต์งาน “เวิร์ค” สำหรับคนทำงานด้วยกัน

1. คุณต้องการ “แก้ไข” หรือ “พัฒนา” ?

ก่อนจะเริ่มคอมเมนต์อะไร เราอาจจะต้องตอบตัวเองให้ชัดเสียก่อนว่าต้องการให้งานนั้นได้รับการ “แก้ไข” หรือ “พัฒนา” กันแน่ ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูใกล้เคียงกัน แต่มันก็มีความต่างกันอยู่ระดับหนึ่ง กล่าวคือการแก้ไขคืองานที่ทำมีข้อผิดพลาด ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้ชิ้นงานเสียหรือไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง แต่ขณะที่การพัฒนาคืองานเดิมอาจจะดีอยู่แล้ว แต่มีโอกาสในการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกด้วยการปรับแต่งบางอย่างเพิ่มเติม

ความแตกต่างระหว่างการแก้ไขและการพัฒนานี้เอง ที่เป็นตัวตั้งต้นทัศนคติของการให้คอมเมนต์ และจะมีผลต่อไปอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเสียง เหตุผล ความคาดหวัง และข้อมูลประกอบที่จำเป็น ฯลฯ ผู้ให้คอมเมนต์ความตั้งต้นให้ชัดว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร ถ้าเป็นการแก้ไข ปัญหาและข้อผิดพลาดก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องถูกจัดการ ในขณะที่การพัฒนานั้น บางครั้งอาจจะเป็นการท้าทายหรือทดลอง ซึ่งอาจจะเกิดผลดีหรือไม่ดีก็ได้ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ความจำเป็นต่างกัน

2. อะไรคือจุดที่เป็นปัญหาหรือคุณต้องการเปลี่ยนแปลง ?

ปัญหาซ้ำซากของการคอมเมนต์หลายๆ ครั้งคือการให้คอมเมนต์โดยที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน คลุมเครือ หรือไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าอะไรคือปัญหา ซึ่งเมื่อความต้องการหรือจุดหมายปลายทางไม่ชัดเจนแล้ว ผู้ที่ทำงานก็จะประสบปัญหาไม่น้อยว่าจะแก้ไขหรือปรับปรุงอะไร ผู้ที่ให้คอมเมนต์ที่ดีจะรู้จักวิเคราะห์และสื่อสารออกมาได้เป็นประเด็นว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการ ซึ่งนั่นจะทำให้สามารถนำไปทำงานต่อได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

นึกภาพเอาเสียว่าคุณกำลังสร้างบ้านหลังหนึ่ง แล้วพอตรวจรับงาน คุณบอกช่างว่า “ผมไม่ชอบที่คุณทำเสียเลย คุณช่วยแก้ไขให้ผมหน่อย เอาให้มันดูสวยกว่านี้” ซึ่งช่างก็คงจะอึ้งงงๆ เป็นแน่ เพราะบ้านหลังหนึ่งก็ใช่ว่าเล็กๆ มีส่วนประกอบมากมาย อะไรกันที่ทำให้ไม่ถูกใจ? แต่มันจะง่ายสำหรับช่างมากขึ้นถ้าคุณจะให้ความเห็นว่า “ผมไม่ชอบสีของหลังคาบ้าน เพราะมันดูไม่เข้ากับสีของตัวบ้าน คุณช่วยเปลี่ยนให้หน่อย อีกอย่างคือประตูหน้าบ้านไม่ควรใช้ลายนี้ ผมอยากให้มันดูเรียบๆ มากกว่า” ซึ่งช่วยสโคปจุดที่ต้องแก้ไขให้ชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ทำให้การแก้ไขจบในการแก้ครั้งเดียว แต่อย่างน้อยคนทำงานก็รู้ได้ว่าเขาควรโฟกัสการแก้ไขไปที่จุดไหน

3. ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือส่วนที่ดี อะไรคือส่วนที่ไม่ดี

หลายๆ ทีที่เราอาจจะได้ยินคอมเมนต์ทำนองว่า “คราวที่แล้วมีอันนั้นซึ่งดี แล้วเอาออกทำไม” ซึ่งก็ทำให้คนทำงานมักมองหน้างงๆ หรือไม่ก็บ่นในใจว่า “แล้วทำไมไม่บอกว่าอันไหนอยากให้เก็บไว้”

การคอมเมนต์ก็แบบนั้นแหละครับ งานชิ้นหนึ่งย่อมมีทั้งจุดที่ดีและไม่ดีผสมกันไป การพิจารณางานจึงควรมองให้ออกว่าอะไรคือส่วนที่น่าสนใจ ส่วนที่ดูมีโอกาสในการพัฒนาซึ่งคุณอยากให้เก็บไว้ อะไรคือส่วนที่แย่ ส่วนที่เป็นข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ ซึ่งการคอมเมนต์ที่ดีก็ควรแจกแจงตรงนี้ให้เคลียร์

4. ยกตัวอย่างประกอบ เทียบเคียง เพื่อให้เห็นภาพ

หนึ่งในวิธีที่ดีเพื่อให้คนที่ทำงานด้วยเข้าใจสิ่งที่เราต้องการนอกเหนือจากการอธิบายความคิดเชิงทฤษฏีแล้ว ก็คือการยกตัวอย่าง ภาพประกอบ คอนเทนต์อ้างอิง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ภาพความคิดชัดเจนมากขึ้น

เพราะถ้าคุณอธิบายว่า “อยากได้ภาพที่เป็นเส้นๆ เป็นลวดลายดูเยอะๆ สลวยๆ หน่อย” มันก็อาจจะทำให้คนจินตนาการไปหลากหลายและมีสิทธิ์มากที่จะไม่ตรงกับที่คุณคิด แต่ถ้าคุณหาภาพประกอบที่ใกล้เคียงกับที่คุณต้องการมาโชว์ให้ดู คนที่ฟังคุณอยู่ก็จะเห็นภาพไปในแบบเดียวกับที่คุณต้องการ

5. ใช้เหตุผล อย่าใช้อารมณ์

ไม่มีใครชอบเวลาถูกวิจารณ์โดยใช้อารมณ์ คนทำงานทุกคนย่อมมีอีโก้ในตัวงานไม่มากก็น้อย ไม่นับกับความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องทำงานชิ้นนั้น การใช้อารมณ์หรือคำพูดประเภททำร้ายจิตใจ ประหัตประหารคนทำงานไม่ได้ช่วยให้พวกทำงานดีขึ้นสักเท่าไร หากแต่จะทำให้พวกเขาทำงานให้เสร็จๆ ไปโดยไม่มีใจผูกพันกับมัน ทางที่ดีคือการคอมเมนต์ในลักษณะชี้แจง และกระตุ้นให้เขาอยากแก้ไขเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งนั่นจะเป็นการซื้อใจคนทำงานได้มากโขทีเดียว

6. คอมเมนต์พอประมาณ ไม่สั้นเกินไป และก็ไม่ยาวเกินไป

คอมเมนต์ที่สั้นเกินไป หลายๆ ทีก็น้อยจนไม่รู้จะจับอะไรไปทำงานต่อ ในขณะที่การคอมเมนต์ยืดยาวและละเอียดเกินไปก็เสี่ยงจะทำให้เกิดการสับสันหรือขัดกันเองของคอมเมนต์และข้อมูลได้เหมือนกัน ฉะนั้นผู้ให้คอมเมนต์ต้องพึงรู้ตัวเองว่าควรให้ความคิดเห็นที่พอเหมาะ อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และอะไรคือสิ่งที่ไม่จำเป็น การพูดอธิบายยืดยาวเกินไปอาจจะไม่ได้ทำให้คอมเมนต์ดูฉลาด แต่กลับจะทำให้ดูเยอะ ยุ่งยาก และน่าเบื่อหน่ายแทน

ที่สรุปมาทั้ง 6 ข้อนั้น เป็นตัวอย่างของวิธีการให้คอมเมนต์ที่สามารถนำไปทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจริงๆ อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ ถ้าใครมีหลักอื่นๆ ก็สามารถแชร์กันมาได้ครับ

ความคิดเห็น


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page