6 อาการที่ทำให้คุณทำงานแบบขาดประสิทธิภาพ
ผมเชื่อว่าทุกวันนี้เรามีสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เราเสียสมาธิในการทำงานเยอะกว่าเดิม (จะหนักๆ ก็บรรดา Social Media ต่างๆ ที่คอยเด้งมาทำให้เราหลุดโฟกัสอยู่บ่อยๆ เนี่ยแหละ) ซึ่งนั่นมักทำให้หลายๆ คนเริ่มพูดถึงว่าเรากำลังงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง บ้างก็ถึงขั้นขาดประสิทธิภาพไปเลยก็มี
พูดถึงเรื่องการทำงานที่หลุดโฟกัสจากสิ่งที่มาดึงความสนใจ ตลอดไปจนการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพนั้นทำให้ผมนึกถึงที่ Edward M. Hallowell เล่าเคส “อาการ” ต่างๆ ที่เขาพบกับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานในหนังสือ Driven to Distraction at Work: How to Focus and Be More โดยเขาแบ่ง “อาการ” ต่างๆ ออกเป็น 6 หมวดสำคัญที่น่าจะมีผลมากในยุคปัจจุบัน บล็อกนี้เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟังดู ใครเป็นอาการไหนก็ลองหาทางรักษากันดูนะครับ
1. Screen Sucking – ติด “หน้าจอ”
อาการนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเกินคนทั่วๆ ไปในวันนี้เข้าใจ เพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนเองก็เป็นแบบรู้ตัวกัน นั่นคือภาวะที่เราพะวงกับหน้าจอต่างๆ รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเลต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ตลอดไปจนเกิดอาการ “ติด” ประเภทเอะอะก็ต้องออนไลน์เช็คโน่นเช็คนี่ คอยอัพเดทโน่นนี่จนไม่สามารถอยู่นิ่งๆ โฟกัสกับงานนานๆ ได้
2. Multitasking – ทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน
ข้อนี้หลายๆ คนอาจจะบอกว่ามันน่าจะเป็นจุดแข็ง แต่จริงๆ แล้ว Multitasking มักถูกพูดถึงว่าเป็นวิธีการทำงานที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเสียเท่าไร เพราะแม้ว่าการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันจะดู (เหมือนจะ) เจ๋ง แต่พอเอาเข้าจริงๆ มีน้อยคนมากที่จะสามารถทำงาน Multitasking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะส่วนมากจะกลายเป็นว่าทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันแล้วไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ กลายเป็นว่าคุณพะวงโน่น ห่วงไอ้นี่ จนลืมมองรายละเอียดสำคัญๆ หรือใช้เวลาในการคิดให้ถ้วนถี่เสียก่อนนั่นแหละ
3. Idea Hopping – ไอเดียพรั่งพรูเกินไป
หลายๆ คนมีไอเดียดีๆ ที่น่าเอาไปทำให้เกิดขึ้นจริง แต่ปัญหาคือหลายๆ คนอีกเช่นกันที่จะไม่สามารถจับไอเดียแล้วเอามาโฟกัสทำให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ แต่กลายเป็นว่าเหมือนเพ้อไอเดียไปเรื่อยๆ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำอะไรกันแน่ หรืออีกกรณีหนึ่งคือมีหลายไอเดียมากเกินไปจนไม่สามารถโฟกัสอยู่กับไอเดียตรงหน้าได้เสียที
4. Worrying – กังวลมากเกินไป
ปัญหาอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้หลายๆ งานไม่ได้เกิดหรือทำงานแล้วติดขัดอย่างมากคืออาการกังวลมากเกินเหตุ ประเภทวิตกไปกับทุกๆ อย่าง (แต่ก็ไม่ได้หาทางแก้ปัญหาหรือวิธีป้องกันออกมาได้) พอเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้เกิดสถานการณ์ประเภทย้ำคิดย้ำทำ คิดวนไปวนมาเพราะกลัวโน่นกังวลไอ้นี่ แถมเผลอๆ กลายเป็นความเครียดที่บั่นทอนทั้งการทำงานและสุขภาพร่างกายไปเสียอีกต่างหาก
5. Playing the Hero – ช่วยทุกคนจนลืมตัวเอง
ปัญหานี้ก็ฟังดูประหลาดๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยกับคนที่แคร์คนอื่นมากจนหลายๆ ทีก็ลืมให้ความสำคัญกับตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่นที่มาขอความช่วยเหลือจนสุดท้ายกลายเป็นว่าตัวเองไม่มีเวลาเหลือทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือบางทีก็ไปรับงานคนอื่นจนลืมงานตัวเองก็มี นอกจากนี้คนเหล่านี้มักจะเสียสละตัวเองเกินเหตุทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาสามารถเอาตัวเองไปสร้างสรรค์งานอื่นๆ ได้ดีกว่าแทนที่จะต้องมาแบกภาระที่มอบหมายให้คนอื่นทำเสียก็ได้
6. Dropping the ball – จัดระเบียบตัวเองไม่ได้
ในกรณีของอาการนี้ คนที่เป็นนั้นมักจะไม่สามารถจัดระเบียบตัวเองได้ ประเภทลืมโน่นลืมนี่ ไม่สามารถบริหารตารางเวลาของตัวเองได้ จนสุดท้ายกลายเป็นว่างานต่างๆ ที่ว่างแผนไว้ก็ไม่สามารถทำได้ เลทบ้าง ผิดพลาดบ้าง รวมไปถึงการควบคุมตัวเองไม่ได้ในหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับทำงาน
ที่เรียกว่า “อาการ” นั้น ส่วนหนึ่งเพราะหนังสือ Driven to Distraction เองก็มองพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนอาการป่วย แต่อย่างไรก็ดีมันก็เป็นอาการที่สามารถรักษาได้เช่นกัน ส่วนแต่ละอาการจะมีรายละเอียดอย่างไร จะมีวิธีรักษาแบบไหน ไว้ผมจะลองเอามาเล่าสู่กันฟังต่อในบล็อกถัดๆ ไปนะครับ
Comments