7 พฤติกรรมที่คุณเป็นโดยไม่รู้ตัวแล้วทำให้พูดแบบกระชับๆ ไม่ได้
ช่วงนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ Brief: Make a Bigger Impact by Saying Less ซึ่งเป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องวิธีทำให้การสื่อสารของเรากระชับและได้ใจความเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด (โดยไม่ต้องเยิ่นเย้อหรือกินเวลามากมาย) บทหนึ่งที่น่าสนใจมีการพูดถึงพฤติกรรมที่คนเรามักเผลอทำกันโดยไม่รู้ตัวเวลาที่เราจะพูดคุยกับคนหรือนำเสนองานต่างๆ และทำให้เราสรุปความเพื่อพูดแบบกระชับๆ ไม่ได้ ซึ่งบางข้อก็เป็นปัญหาทำให้คุณจับประเด็นไม่ได้ บ้างก็ทำให้ประเด็นของคุณแตกยอดเกินจำเป็น จะมีอะไรบ้างและคุณเป็นข้อไหน มาดูกันดีกว่าครับ
1. กลัวการถูกถามกลับ
พฤติกรรมแบบนี้คือเรากลัวว่าเราจะถูกถาม หรือค้านความเห็นของคุณ คุณเลยเลือกจะใช้คำพูดหรือประโยคบางประโยคที่ไม่ได้มีความหมาย บ้างก็เพื่อให้เยิ่นเย้อเพื่อที่จะเป็นเกราะป้องกันความกลัวนี้เอง ผลที่มักเกิดขึ้นคือคุณจะเล่าอะไรไปเรื่อย เอาคำพูดเฟือๆ มาใช้ บ้างก็พยายามข้ามประเด็นที่จริงๆ คุณต้องก็พูดไปเลยด้วยซ้ำ
2. คุณรู้ดีไปหมด
เมื่อคุณคิดว่าคุณรู้ดีและเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องบางเรื่อง สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือคุณพยายามสาธยารายละเอียดบางอย่างเพื่อแสดงความรู้จริงของคุณให้กับผู้ฟัง และหลายๆ รายละเอียดก็ไม่ได้จำเป็นเลยแม้แต่น้อย คุณพยายามเล่าสิ่งที่ไม่ได้เป็นหัวใจของสิ่งที่คุณกำลังพูด แต่พยายามยกข้อมูลมากมายมาเพื่อจะพยายามพิสูจน์ตัวคุณเอง หลายๆ ครั้งเลยเป็นการโชว์ความรู้ โชว์ศัพท์เทคนิค ฯลฯ และคุณก็ไม่มีทีท่าจะหยุดอีกต่างหาก
3. คุณไม่เห็นใจผู้อื่น
พฤติกรรมนี้คือตอนที่คุณไม่ได้แคร์คนฟัง ไม่ได้แคร์ว่าคนอื่นเขาอยู่ในสภาวะไหน ทำงานอะไรอยู่ แต่คุณจะโผล่เข้าไปคุยกับเขาแล้วสนใจกับสิ่งที่คุณต้องการพูดเป็นหลัก ผลก็คือคุณจะโฟกัสกับสิ่งที่คุณพูดโดยไม่ได้สังเกตว่าคนฟังเขาอยู่ในภาวะไหน พร้อมจะฟังแค่ไหน หรือเขารู้สึกเบื่อที่ต้องคุยกับคุณหรือเปล่า
4. คุณกันเองมากเกินไป
เวลาคนถามว่า “สุดสัปดาห์นี้ไปไหน” เราจะเห็นบางคนตอบแบบกระชับไม่มีอะไรมาก แต่ก็จะมีบางคนที่สาธยาชีวิตไปเรื่อยโดยดูไม่มีท่าจะจบคำตอบเสียที ส่วนหนึ่งเพราะคนตอบเองนั้นมักรู้สึก Relax เกินไป บ้างก็รู้สึกกันเองกับคนถามประเภทเพื่อนสนิท เลยสามารถพูดคุยกันได้เป็นชั่วโมง (แม้จะมาจากคำถามไม่กี่คำถามก็เถอะ) แม้ว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่คุยด้วยทุกคน แต่การที่คุณเลือกทำตัวแบบนี้กับคนบางคนจะกลายเป็นการสร้างพฤติกรรมให้คุณโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
5. คุณยังสับสนในตัวเอง
ปัญหาที่เรามักเจอคือคนตอบไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน หรือบางทีก็พูดในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เห็นภาพไม่ชัด ผลก็คือพอพูดออกมาทันที หรือพูดออกมาเร็วเกินไป เลยไม่สามารถสรุปความออกมาได้ เราจะเห็นการพูดไปเรื่อยๆ โยนไอเดียไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละไอเดียอาจจะไม่เชื่อมโยง ไม่เป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ
6. คุณคิดว่ามันซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้
หลายๆ ครั้งที่เรามักคิดว่าสิ่งที่คนถามนั้นมันสลับซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้ง่ายๆ คุณจะตั้งกรอบความคิดแต่ต้นว่ามันไม่สามารถสรุปให้สั้นๆ ได้และเลือกจะให้ข้อมูลเยอะๆ เพื่ออธิบายให้เห็นความสลับซับซ้อนของมัน ทำให้คนฟังเชื่อเหมือนคุณว่ามันยุ่งยากและซับซ้อนอย่างนั้น ผลก็คือคุณเล่ารายละเอียดเยอะเต็มไปหมดและทำให้มันดูยุ่งเหยิงเข้าไว้โดยไม่รู้ตัว
7. คุณไม่ได้ใส่ใจอะไร
หลายๆ ครั้งที่คุณรู้สึกว่าที่คุณต้องตอบ ต้องส่งอีเมล์ หรือต้องพรีเซนต์นั้นเป็นการทำไป “เป็นพิธี” คุณเลยไม่ได้รู้สึกว่าต้องใส่ใจอะไรกับสิ่งที่ต้องนำเสนอ หรือบ้างก็คิดว่าเดี๋ยวคงไปสามารถไปคุย / เคลียร์กันนอกรอบได้ คุณเลยคิดว่าการสื่อสารที่จะทำนั้นเลยไม่ต้องจำเป็นต้องจริงจังหรือทำให้กระชับก็ได้
7 อย่างที่ยกมาเล่าให้ฟังนี้ เป็น 7 อย่างที่ผมเชื่อว่าเราหลายๆ คนทำโดยไม่รู้ตัว แม้กับตัวผมเองบางทีก็เคยเป็นเหมือนกัน ฉะนั้นแล้ว คงจะดีที่วันนี้เราจะเริ่มหันมาสำรวจตัวเองและยับยั้งไม่ให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ (ถ้าเราเริ่มจะรู้ตัวน่ะนะ) จากนั้นก็หาวิธีแก้ไขและทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม (ซึ่งหนังสือก็อธิบายต่อไปนั่นแหละครับ)
Commentaires