top of page

7 หลักการขอโทษของคนเป็นหัวหน้าที่ควรรู้ (และทำให้ได้)

หนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนมักบ่นๆ กันเรื่องคือการขอโทษไม่เป็นของบรรดาหัวหน้างานหรือผู้บริหารต่างๆ ซึ่งมักนำไปสู่การทำลายความรู้สึกของพนักงานและจะค่อยๆ ก่อตัวกลายเป็นการต่อต้านและไม่นับถือคนที่ต้องอยู่ในบทบาทของผู้นำไปเสีย

พอเป็นเช่นนี้ มันเลยเป็นเรื่องค่อนข้างจำเป็นของบรรดาผู้บริหารอยู่เหมือนกันที่จะต้องรู้จักขอโทษในเวลาที่จำเป็นอยู่เหมือนกัน ซึ่งเทคนิคในการขอโทษสำหรับผู้บริหารนั้น หนังสือ The Worst Case Scenario Business Survial Guide ก็มีการอธิบายหลัก 7 ข้อที่พึงกระทำ ซึ่งแม้ว่ามันอาจจะออกแบบมาสำหรับผู้บริหารแต่ผมว่าคนทำงานทุกๆ คนก็สามารถเอาไปใช้ได้เหมือนกันนะครับ

1. นึกถึงสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟัง

แน่นอนว่าการขอโทษนั้น แสดงว่าอีกฝ่ายเองก็ต้องได้รับผลกระทบอะไรบางอย่างมาไม่มากก็น้อย ฉะนั้นคนที่จะขอโทษก็ควรคิดในมุมของอีกฝั่งรวมทั้งมองทะลุให้เห็นว่าอะไรจะเป็นคำถามที่อาจจะเกิดขึ้น (รวมทั้งคำตอบที่จะต้องเตรียมไว้ด้วยนั่นแหละ)

2. ทบทวนว่าเขารู้สึกแบบนี้มาเท่าไรแล้ว

หลายๆ เหตุการณ์เป็นการขอโทษกับสิ่งที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ฉะนั้นผู้ขอโทษก็ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคาราคาซังกันมานานแค่ไหน หรือเกิดมานานเท่าไร เพราะนั่นจะส่งผลต่อความรู้สึกกับคนที่จะไปขอโทษ อย่าลืมว่ายิ่งเรื่องมันเกิดขึ้นมานาน อีกฝั่งก็คงจะรู้สึก “เจ็บ” มาไม่น้อยเช่นกัน

3. ดูว่ามีทางแก้ไขอื่นนอกจากขอโทษหรือไม่

จริงอยู่ว่าการขอโทษคือการกระทำที่จำเป็น แต่ก็ใช่ที่ว่ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นไปเสียทุกอย่าง หลายๆ อย่างนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการมากกว่าแค่การขอโทษด้วย และนั่นคือตัวเลือกที่ควรจะพึงมีเอาไว้เช่นกัน

4. กล่าวขอโทษด้วยตัวเอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะการขอโทษตรงนั้นแสดงความจริงใจและสามารถทำให้อีกฝั่งยอมรับได้ง่ายกว่าการขอโทษผ่านช่องทางอื่นๆ

5. ขอโทษอย่างเรียบง่ายและจริงใจ

สิ่งสำคัญที่ทำให้การขอโทษหลายๆ ครั้งไม่ได้ผลเพราะคนฟังรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ได้ขอโทษจริง บ้างก็ทำเป็นพิธีโดยปราศจากความจริงใจ และนั่นเป็นสิ่งที่ต้องระวังไว้มากๆ ต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรให้การขอโทษนั้นไม่ใช่เป็นการแก้ตัว หรือทำให้อีกฝ่ายเข้าใจไปอีกทาง เช่นเดียวกับที่ตัวคนขอโทษเองก็ต้องรู้สึกจริงๆ กับสิ่งที่จะพูดด้วย

6. รับฟัง

การขอโทษเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในหลายๆ ครั้ง และสิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อคือการฟังอีกฝ่าย รับรู้ความรู้สึกของพวกเขาโดยอย่าเพิ่งรีบแก้ตัวหรือพยายามอธิบายเหตุผลโดยไม่จำเป็น

7. ขอโทษอีกครั้ง

หลังจากที่ได้ขอโทษครั้งแรกและเกิดการสนทนากันไปแล้วนั้น จะเป็นการดีถ้าเราแสดงเจตนาและความจริงใจอีกครั้งเพื่อย้ำให้อีกฝ่ายเห็นความตั้งใจในการขอโทษนั่นเอง

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page