8 พฤติกรรมที่อาจจะทำลายอนาคตด้านการทำงานของคุณได้
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนบล็อกเรื่องพฤติกรรมการพูดที่อาจจะทำลายภาพลักษณ์ไปแล้ว ล่าสุดผมก็ไปเจอบล็อกว่าด้วยพฤติกรรมที่อาจจะทำลายหน้าที่การงานของเราซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งก็เชื่อได้ว่าคนจำนวนมากนั้นอยากประสบความสำเร็จและได้ก้าวหน้าด้านการงานทั้งนั้น แต่มีไม่เยอะที่ประสบความสำเร็จจริงๆ เรื่องนี้ Entreprenuer ที่ปรกติมักหยิบพฤติกรรมโดดเด่นมาแนะนำ (ต้นฉบับนั้นตีพิมพ์ในU.S. News & World Report) เอาพฤติกรรมที่ “ฆ่าความก้าวหน้า” ของคุณมาเล่าบ้าง ซึ่งแค่ฟังก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะครับ (ผมจะขอแปลและเติมความเห็นตามสมควรนะครับ)
1. ไม่กล้าโปรโมตงานของคุณเอง
บางทีงานที่คุณทำอยู่นั้นเป็นงานที่สุดจะเจ๋งและไม่ธรรมดาเกินกว่าที่หลายคนจะคาดคิด แต่ก็อีกนั่นแหละที่ถ้าคุณไม่เอามันมาพูดถึงและไม่มีใครรู้ มันก็คงยากที่จะทำให้หลายๆ คนได้รู้จักและมองเห็นคุณค่าของคุณ บางคนอาจจะคิดทำนองติสต์ๆ ว่าของชั้นเจ๋งอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ต้องมีคนมาเจอแต่เอาจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับเพราะเราต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้มันมี “เรื่องราว” มากมายที่พร้อมจะดึงความสนใจของคนอื่นๆ ไปจากงานของคุณและตัวคุณเองด้วย ฉะนั้นแล้วจึงจำเป็นอยู่เหมือนกันที่คุณควรจะปันเวลาบางส่วนมาสำรวจประเด็นนี้กันดีๆ เช่นเจ้านายของคุณรู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่หรือไม่ เขาเห็นผลงานของคุณหรือเปล่า หรือถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีคำชมหรือการประสบความสำเร็จอะไรนั้น เขาได้รู้ถึงมันด้วย
เรื่องนี้อาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับบางคนเพราะมันอาจจะไปคล้ายๆ กับพวกชอบอวดอ้างสรรพคุณตัวเอง บ้างก็ถูกมองว่าเป็นพวกชอบโชว์ความสามารถหรือเปล่า อันที่จริงมันก็อาจจะมีความคล้ายกันอยู่บ้างแต่มันก็มีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ อย่างน้อยก็คือเรื่องเจตนาที่คุณไม่ควรสนใจเรื่องการเอาหน้า หรือต้องการโชว์เพื่อให้คนอื่นอิจฉา แต่มันคือการทำเพื่อให้หัวหน้าได้รับรู้ถึงความสามารถของคุณเพื่อเขาจะได้มอบหมายงานหรือโอกาสใหม่ๆ ตามมา
2. เอาแต่ป้องกันตัวเองจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์
บางคนเมื่อถูกเรียกไปคุยเพื่อตักเตือน บ้างก็ได้รับการวิจารณ์ ก็จะทำการปัดป้องหรือไม่ก็พยายามแก้ตัวให้ตัวเองอยู่ตลอด ประเภทว่าตัวเองไม่ผิดหรือไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์ของคุณอื่นไปเสียทุกอย่าง คนประเภทนี้นั้นจะทำให้หลายๆ คนเบื่อหน่ายที่จะตักเตือนและสุดท้ายก็จะเลิกพูดคุยไปในที่สุด และแน่นอนว่ารวมไปถึงหัวหน้าหรือคนที่จะพิจารณาในการให้โอกาสกับคุณด้วย
คำพูดหนึ่งจากหนังสือ The Last Lecture ที่ผมชอบมากๆ คือถ้าเมื่อไรก็ตามที่โค้ชเลิกกวดขันกับนักกีฬา นั่นก็แสดงเขายอมแพ้และเลิกหวังกับตัวนักกีฬาคนนั้นแล้ว ซึ่งนั่นเป็นความจริงมากๆ ในการทำงานเลยก็ว่าได้
ลองคิดกลับกันในชีวิตปรกติของเราก็ได้ ว่าเมื่อไรก็ตามที่เราเตือนเพื่อนแต่เขาไม่ยอมฟังและพยายามหาข้ออ้างมาตลอด วันหนึ่งเราก็จะเลิกเตือนไปในที่สุดเหมือนกันนั่นแหละครับ
3. รีบตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบ
ยิ่งคุณต้องทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ นั้น สิ่งที่ตามมาคือความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเรื่อย และเกณฑ์หนึ่งที่หัวหน้างานหลายๆ คนจะพิจารณาคือความรอบคอบในการวางแผนและตัดสินใจ ทั้งนี้เพราะยิ่งตำแหน่งสูงขึ้นนั้น การตัดสินใจแต่ละอย่างของคุณก็จะยิ่งสำคัญและมีผลกระทบมากขึ้นเรื่องๆ ถ้าคุณยังเป็นประเภทหุนหันพลันแล่น รีบร้อนตัดสินใจโดยที่ยังขาดการวิเคราะห์ ขาดกการวางแผนที่ดีแล้ว ก็คงยากที่หัวหน้างานจะกล้าฝากงานสำคัญๆ ให้กับคุณนั่นแหละ
4. ไม่กล้าที่จะแย้งอะไร
หลายๆ คน (โดยเฉพาะสังคมไทย) มักจะไม่กล้าแย้งความคิดเห็น หรือกล้าจะที่โต้เถียง ส่วนหนึ่งเพราะมักมองว่าการทำแบบนั้นจะแปลว่าก้าวร้าวและถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่ในทางกลับกันแล้ว การที่คุณไม่การขัดแย้ง ไม่ทำอะไรเลยอาจจะแย่เสียยิ่งกว่า ทั้งนี้เพราะในหลายๆ สถานการณ์นั้น การกล้าก้าวออกมาแสดงความเห็นที่ต่างออกไปจะเป็นโอกาสอย่างดีที่ทำให้คนอื่นได้เห็นศักยภาพและความสามารถของคุณ และในการโต้เถียงแลกเปลี่ยนหลายครั้งก็ทำให้คุณได้นำเสนอความคิดที่น่าสนใจอีกมากมายด้วย ซึ่งนั่นผิดกลับคนซึ่งเลือกจะเงียบและตามน้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้คุณไม่ได้ต่างจากคนทั่วๆ ไปนั่นแหละ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังไว้ด้วยว่าแม้คุณจะมีความคิดเห็นที่ต่างออกไปและต้องการนำเสนอนั้น คุณก็ต้องมีวิธีที่มีความเป็นมืออาชีพด้วย ไม่ใช่ก้าวร้าวและคัดค้านแบบไม่มีชั้นเชิง ซึ่งพอเป็นแบบนั้นก็จะกลายเป็นทำลายตัวคุณหนักกว่าเดิมด้วยเหมือนกัน
5. มองโลกแง่ร้ายอยู่บ่อยๆ
เวลามีโปรเจคหรือมีงานใหม่ๆ เข้ามา บางคนจะบ่นและแสดงอาการไม่พอใจ (ส่วนมากมาจากงานที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับบางคนที่ไม่สบอารมณ์กับความผิดพลาดในทุกๆ อย่าง พอเกิดแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศการทำงานรอบตัวคนเหล่านี้ก็จะติดลบตามทัศนคติไปด้วย และแน่นอนว่าคนแบบนี้เองก็คงยากที่หัวหน้าจะยอมให้โอกาสทำงานใหญ่ๆ หรือขึ้นมานำทีมเพราะก็ต้องกังวลว่าจะสร้างบรรยกาศไม่ดีให้กับทีมเอาได้
เรื่องการมองโลกแง่ลบนี้ใช่ว่าแค่พวกบ่นหรือสบถเพียงอย่างเดียว กับคนพวกตลกร้ายประเภทหัวเราะเยาะจากการถากถางหรือล้อเลียนคนอื่น กดคนอื่นก็มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะมันทำให้คนอื่นๆ มองคุณว่าคุณมีทัศนคติแง่ลบกับคนอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นคุณสมบัติที่ไม่ดีเลยกับการทำงานร่วมกับคนมากมาย
6. โกหก
สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานคือความน่าเชื่อถือ ยิ่งคุณมีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร คุณก็สามารถดึงให้คนอื่นมาทำงานร่วมกับคุณได้มาก แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามคุณโกหกและถูกจับได้ ความน่าเชื่อถือของคุณก็จะถูกทำลายลงไป ที่หนักกว่าคือความผิดที่เกิดขึ้นจะไม่มีวันหายไป และคุณต้องใช้เวลาอีกมากมาย (หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย) ที่จะกู้ความน่าเชื่อถือกลับมา
และถ้าคุณไม่มีความน่าเชื่อถือในที่ทำงานแล้ว ใครเล่าจะให้คุณขึ้นไปเป็นหัวหน้าหรือได้รับมอบหมายงานที่สูงขึ้นกัน
7. เรียงลำดับ จัดระเบียบความคิดและการทำงานไม่เป็น
คุณอาจจะมีไอเดียที่ดี มีทัศนคติที่น่าสนใจ แต่ถ้าคุณทำอะไรวกไปวนมา พูดจาไม่รู้เรื่อง มันก็ทำให้หลายๆ คนลดความเชื่อถือของคุณลงไปด้วย ยิ่งถ้าคุณทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือเอ่ยปากรับคำไว้แบบเละเทะยุ่งเหยิงแล้วล่ะก็ คนต่างๆ ก็จะรู้สึกไม่ไว้วางใจคุณในการทำงานชิ้นต่อๆ ไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่องอันตรายต่อตัวคุณอย่างมาก ยิ่งถ้าคุณทำงานผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็จะยิ่งไปกันใหญ่เลยทีเดียว
8. ไม่ขยันเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
คุณอาจจะพบว่าตัวคุณเองดีพร้อมอยู่แล้ว ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว จะต้องมาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ กันเล่า แต่ทัศนคติแบบนี้เองที่ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถก้าวหน้าหรือปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ลองสมมติตัวเองเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารและนำเสนอให้คนในแผนกเริ่มลองใช้โปรแกรมใหม่ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม เพิ่มศักยภาพการทำงานได้มากขึ้น แต่มีพนักงานโห่และพูดทำนองว่าขี้เกียจศึกษาของใหม่ ใช้ชีวิตแบบเดิมดีกว่า ฯลฯ เจอแบบนี้คุณจะรู้สึกอย่างไรกันบ้างล่ะครับ?
8 ข้อนี้ ถ้าถามผมแล้วก็พบเจอกันได้ไม่ยาก และมีกันอยู่ในทุกๆ องค์กรนั่นแหละครับ ยังไงถ้าพบว่าคุณเองทำอะไรใน 8 อย่างนี้อยู่ล่ะก็ ลองหาวิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้นดูนะครับ เพราะถ้ามองมุมกลับแล้วทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ 8 ข้อนี้ได้ล่ะก็ คุณก็อาจจะโดดเด่นขึ้นมาเลยทีเดียวเชียวนะ
ภาพประกอบซื้อและดาว์นโหลดจาก ShutterStock
Comments