8 วิถีการเป็นลูกค้าที่ดีในการทำงานกับเอเยนซี่เพื่อให้ได้งานที่เวิร์ค
ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับเอเยนซี่น่าจะเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนที่สุดอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เพราะมีทั้งเรื่องน่าประทับใจพอๆ กับเรื่องที่สร้างความปวดร้าวทางจิตใจ (ส่วนอะไรจะมากกว่ากันนั้นก็คงแล้วแต่เคสนั่นแหละนะ)
ทีนี้ผมเลยลองมานั่งคิดๆ ดูว่าแล้วทำอย่างไรที่จะให้การทำงานระหว่างลูกค้าและเอเยนซี่ไปด้วยกันได้แถมสร้างงานที่มีดี ตอบโจทย์ทางการตลาดที่ต้องการกันได้ล่ะ? พอคิดแบบนี้ผมเลยลองสรุปเป็นข้อๆ เผื่อใครที่ทำงานฝั่งลูกค้าจะลองเอาไปคิดดูว่าทำได้ไหมนะครับ
1. ตอบตัวเองให้ชัดก่อนว่าจะเอาอะไร
ก่อนที่จะไปคาดหวังให้เอเยนซี่สร้างงานที่ตอบโจทย์กลยุทธ์การตลาดของตัวเองนั้น สิ่งที่ลูกค้าควรจะทำอย่างแรกคือมีความชัดเจนและหนักแน่นในตัวเองเสียก่อนว่ากลยุทธ์ของตัวเองคืออะไร เราคาดหวังอะไรจากแคมเปญที่จะบรีฟนี้ แล้วทำไมมันถึงสำคัญ (หรือมันจะส่งผลอะไรกับการตลาดของตัวเอง) ทั้งนี้อย่าลืมว่าสิ่งที่จะบรีฟให้เอเยนซี่นั้นคือหนึ่งในกลยุทธ์ของเรา ถ้าตัวเราเองไม่นิ่ง ไม่ชัดเจน หรือยังลอยๆ ประเภทไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ เอเยนซี่คงไม่สามารถตรัสรู้ได้ว่าแคมเปญนี้จะคาดหวังอะไร จะทำไปเพื่ออะไรกัน แล้วพอสุดท้ายมันจะไปจบประเภททำอะไรออกมาแล้วไม่สัมฤทธิ์ผลเอาสักทาง
2. รู้จักวิธีบรีฟแบบที่เอาไปทำงานต่อได้
การบรีฟเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าบางคนอาจจะคาดหวังให้เอเยนซี่สามารถเข้าใจความคิดประเภทตีแตกได้โดยไม่ต้องเหนื่อยกับการบรีฟ แต่เอาจริงๆ สำหรับผมแล้ว ถ้าตัวลูกค้าเองยังไม่สามารถอธิบายความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรู้เรื่องได้ มันก็คงไม่มีใครจะเข้าใจและไปทำงานที่ถูกใจได้เช่นกัน ทางที่ดีตัวลูกค้าซึ่งเป็นต้นน้ำนี่แหละที่จะต้องถอดความคิดตัวเองออกมาให้กลายเป็นบรีฟงานที่ดีให้ได้เพื่อให้เอเยนซี่สามารถนำไปตีโจทย์ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แทนที่จะต้องเสียเวลาไปนั่งมโนกันว่าจริงๆ ต้องการอะไร รายละเอียดไม่ครบ สับสน (และสุดท้ายก็ต้องแก้กลับไปกลับมาอีกหลายรอบ)
3. อัพเดทตัวเองบ่อยๆ
ถ้าคุณจะทำงานโฆษณา คุณก็ต้องรู้ว่าโฆษณาปัจจุบันเป็นอย่างไร พื้นฐานสำคัญคืออะไร คาแรคเตอร์ของมันเป็นอย่างไร จะทำงานดิจิทัลก็ต้องรู้ว่ามันทำงานอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรน่าสนใจบ้าง เรื่องพวกนี้จะทำให้เวลาคุยงานกับเอเยนซี่ทำให้คุณคุยกันแบบ “ภาษาเดียวกัน” ซึ่งทำให้การแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วแทนที่จะต้องมานั่งแปลความหมายหรือทำงานกันแบบดำน้ำกันไปซึ่งก็คงจะไม่ดีเท่าไร จากประสบการณ์ของผมนั้น ยิ่งลูกค้าเป็นคนอัพเดทงานมากขึ้นเท่าไร แม้ว่าอาจจะทำให้ขายงานยากขึ้นแต่มันก็ทำให้หลายๆ อย่างคุยกันเข้าใจได้เร็ว ไม่ต้องมานั่งอธิบายเรื่องบางเรื่องซึ่งทำให้เสียเวลาเกินจำเป็น
4. ช่วยกันทำงาน ไม่ใช่สั่งงาน
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับเอเยนซี่อาจจะเป็นเหมือนนายจ้างกับลูกจ้าง แต่เชื่อเถอะครับว่าไม่มีใครอยากถูกสั่งให้ทำงานหรือใช้อำนาจของการเป็น “ผู้จ้าง” มากดดันอีกฝ่ายเป็นแน่ อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้วงานที่ดีมักจะเกิดจากคนทำงานทำมันด้วยความตั้งใจ ทุ่มเทใจ ซึ่งนั่นมาจากพื้นฐานของ “ใจ” กันเป็นส่วนใหญ่ และเรื่อง “ใจ” นี้ไม่ใช่ว่าจะสร้างกันได้ด้วยการกดดัน ใช้คำพูดถากถาง หรือใช้อำนาจสั่งกันเสียเมื่อไร ในทางกลับกันถ้าลูกค้าเข้าใจและ “ช่วยเหลือ” เอเยนซี่แล้ว มันเป็นการทำงานแบบช่วยกันวิ่งสามขา แทนที่จะให้คนหนึ่งวิ่งลากอีกคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อได้ว่าคงไม่มีใครอยากไปเจอสถานการณ์นั้นสักเท่าไรหรอก
5. รู้ข้อจำกัด รู้จักผ่อนปรน รู้จักเปิดใจ
เอเยนซี่และคนทำงานไหนๆ ก็ไม่ใช่ซุปเปอร์แมนประเภทสั่งงานวันนี้พรุ่งนี้ได้กันเสียเมื่อไร บางอย่างคนทำงานต้องรู้และเข้าใจลิมิตและความสามารถของคนทำงานด้วยกัน เช่นเดียวกับข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องเช่นงบประมาณ เวลา ฯลฯ ไม่ใช่ประเภทงบน้อยนิดแต่คาดหวังจะเอางานระดับไฮโซ หรืองานแบบเวลาทำเพียงข้ามคืนและอยากได้งานที่เขาคิดกันเป็นเดือน ลองคิดย้อนกลับว่าถ้ามองอย่างถอยออกมา จะกลายเป็นว่ามันเป็นการทำงานที่ไม่อยู่กับความจริง ซึ่งคงยากที่จะมีเทวดาไหนมาสร้างงานที่ถูกใจเราได้
6. คอมเมนต์งานให้เป็น
การคอมเมนต์งานที่ดีคือการให้คอมเมนต์ที่คนทำงานสามารถเอาทำงานต่อได้ หรือเป็นประโยชน์กับงานจริงๆ ไม่ใช่เป็นการคอมเมนต์เอามันหรือจะโชว์ภูมิว่าชั้นเจ๋งชั้นเก่ง งานที่ดีมักจะเกิดจากการที่คนทำงานให้คอมเมนต์ที่ดีเพื่อนำไปสู่การพัฒนา การปรับปรุงและอุดรอยรั่วต่างๆ เรื่องนี้จริงๆ ก็คล้ายกับบรีฟว่าถ้าไม่สามารถคอมเมนต์ให้จับต้องและเอาไปทำงานต่อได้ก็อย่าไปคอมเมนต์เสียดีกว่า (หรือคนคอมเมนต์ควรจะทบทวนตัวเองเสียก่อน)
ปล. การไม่คอมเมนต์ไม่ได้แปลว่าโง่
7. ให้เกียรติคนทำงาน
ถ้าอยากให้คนทำงานให้คุณอย่างเต็มใจ เราก็ต้องให้ใจกับเขาก่อน การให้เกียรติคนทำงานเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับคนในออฟฟิศกันเองหรือกับเอเยนซี่ที่ทำงานกับเรา ลองคิดกลับว่าถ้าคนที่ทำงานเราไม่ให้เกียรติกับเรามันก็คงจะเป็นความรู้สึกแย่ๆ ฝังใจ และคงอยากจะทำงานให้เสร็จๆ ไปแทนที่จะให้ความร่วมมือและช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ การให้เกียรติคนทำงานนั้นอยู่ในแทบทุกอย่างระหว่างการทำงานซึ่งแม้อาจจะเป็นรายละเอียดเล็กน้อยแต่มันมีส่วนสำคัญมากๆ เช่นกัน
8. ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า และผิดเป็นเหมือนกัน
แม้ว่าจะอยู่ในโหมดลูกค้า แต่ใช่ว่าจะทำผิดไม่เป็น บางครั้งหากมีความผิดพลาด คนทำงานก็ต้องรู้จักรับผิดชอบและมองเห็นความผิดพลาดจากตัวเองเช่นกัน การขอโทษและช่วยกันแก้ไขไม่ได้เป็นเรื่องแย่หรือทำให้คนเป็นลูกค้าดูโง่แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่ทำให้เรากลับมาดูตัวเองว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไรในอนาคต เช่นเดียวกับทำให้คนทำงานไม่รู้สึกถูกเอาเปรียบด้วยเสียอีกต่างหาก
Comments