top of page

Branding สำคัญอย่างไรกับ Publisher ในวันที่คอนเทนต์ทะลัก News Feed

ทุกวันนี้ใครๆ ก็ล้วนออกมาเป็น Publisher กันเต็มไปหมด มีการเปิด Facebook Page กันอย่างล้นหลาม ไหนจะเรื่องการทำเว็บไซต์ บล็อก ฯลฯ เรียกได้ว่าน่าจะเป็นยุคสมัยที่เรามีคนผลิตคอนเทนต์กันเยอะที่สุดเลยก็ว่าได้ (หากไม่นับอนาคตที่คงมีเพิ่มขึ้นไปอีก)

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเป็นสื่อออนไลน์ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แถมมีโอกาสในการสร้างรายได้ค่อนข้างเยอะเพราะแบรนด์ค่างๆ ก็เริ่มโยกเม็ดเงินมาสู่โลกออนไลน์ซึ่งเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลากับมันมากกว่าโลกเดิมอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์

แต่ปัญหาที่ตามมาคือตอนนี้เราพบว่าคอนเทนต์จาก Publisher เหล่านี้เข้าสู่ภาวะที่ “ล้น” แถมกลายเป็นว่าคอนเทนต์จากหลายๆ ที่นั้นดันมีเนื้อหาเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน แทบจะแยกแยะไม่ออกถ้าหากไม่ได้เพ่งดูชื่อคนโพสต์หรือดู URL ของเว็บที่เป็นปลายทางของลิงค์

ซึ่งมันก็คงไม่แปลกอะไรเพราะถ้าจะว่าไปแล้วนั้น มันก็คือการเดินตาม “สูตรสำเร็จ” ที่มีการเรียนรู้และสร้างให้กลายเป็นรูปแบบมาตรฐานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นการสร้างเนื้อหาประเภท How-to การพาดหัวข่าวโดยใช้วิธีการเขียนให้เป็น List หรือเทคนิคการเขียน Copy ต่างๆ เพราะเทคนิคเหล่านี้ล้วนสร้าง “ยอดคลิก” และ “คนดู” ได้อย่างรวดเร็ว

แต่คำถามคือ ถ้าใครๆ ก็ทำในแบบเดียวกัน แล้วคนอ่านจะแยกออกหรือเปล่าว่าคอนเทนต์นั้นเป็นของใคร?

ทำไมการทำ Branding ถึงสำคัญ?

ประเด็นที่ตอนนี้ผมเริ่มพูดบ่อยๆ กับ Publisher ที่รู้จักคือพอ “ใครๆ ก็ทำ” แล้วเราจะแตกต่างจากคนอื่นได้อย่างไร?

ทีนี้หลายๆ คนก็จะถามต่อว่าแล้วทำไมจะต้องแตกต่าง? ก็ลองมาลิสต์เหตุผลกันง่ายๆ ดูนะครับ

  1. อย่างแรกๆ คือทำให้คนอ่าน “จดจำ” คุณได้ง่ายขึ้น

  2. การจดจำนั้นจะนำไปสู่การทำให้พวกเขา “แยก” คุณออกจากคนอื่นได้

  3. และแน่นอนว่ามันนำไปสู่การที่ทำให้คนอ่านมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับตัว Publisher มากขึ้น

  4. นอกจากนี้แล้วยังเป็นเรื่องการสร้าง “ภาพจำ” และ “ตัวตน” ของ Publisher ในระยะยาว ที่จะมีผลในการติดตามของคนอ่านที่มากกว่าการมาอ่านชั่วครั้งชั่วคราว

ที่ผมพูดประเด็นนี้เพราะถึงจุดหนึ่งแล้ว ตัว Publisher ก็คงจะไม่ได้ขาย “Traffic” สำหรับการโฆษณาเพียงอย่างเดียว (เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้องมานั่งปั้ม Traffic กันตลอดไป) แต่มันจะไปสู่การขาย “แบรนด์” ของตัวเองเช่นเดียวกับที่กลุ่มคนอ่านก็จะมองหา Publisher “คู่ใจ” อีกด้วย

เราต้องยอมรับว่าพอเรามีคอนเทนต์มากมายมหาศาลนั้น สิ่งหนึ่งที่คนทำคอนเทนต์ล้วนต้องแข่งกันคือการ “แย่งคนดู” และถ้าคนดูนั้นมาชั่วครั้งชั่วคราวโดยที่จดจำเราไม่ได้ มันก็จะเหนื่อยกับการที่ตัว Publisher จะต้องปั้มคอนเทนต์ออกมาตลอดเวลา แต่หากเมื่อไรก็ตามที่ตัว Publisher กลายเป็น “ที่จดจำ” และ “ที่น่าติดตาม” แล้ว โอกาสที่จะสร้างฐานคนอ่านที่ภักดีก็ง่ายขึ้น แถมยังสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นได้ เช่นการทำกิจกรรม การขยายไลน์ธุรกิจ ฯลฯ

ลองคิดกันง่ายๆ ว่าถ้าสมมติเขารู้จักและจดจำ “อัตลักษณ์” ของคุณได้ ในวันที่เขาต้องเลื่อนหน้าจอ News Feed ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์นั้น เขาสามารถสะดุดสายตากับคอนเทนต์ของคุณและรู้ว่าเป็นของคุณในชั่วเสี้ยววินาที อย่างน้อยมันก็อาจจะทำให้เขาหยุดอ่านและดูว่าวันนี้คุณกำลังจะพูดเรื่องอะไร (ในกรณีที่เขาอยากติดตามคุณน่ะนะ)

แล้วเราจะทำ Branding อะไรบนหน้า Timeline

นอกจากเรื่องการสร้าง “ฐานคนตาม” บนสื่อออนไลน์อย่างการเพิ่มคนกดไลค์ กด Follow แล้ว การทำ Branding ให้กับตัวคอนเทนต์ที่ผลิตออกมานั้นก็สำคัญไม่ใช่น้อย เพราะมันคือการตีกรอบและสร้างภาพที่ “น่าจดจำ” ให้กับคนอ่าน ไม่ว่าจะเป็น

  1. กลุ่มของเนื้อหาที่หยิบมานำเสนอ

  2. วิธีการพาดหัว การเลือกใช้คำ

  3. ลักษณะของภาพที่ใช้โพสต์ (ในลิงค์)

  4. การทำ Graphic ของภาพ (หรือที่เราเรียกกันว่า CI นั่นแหละ)

  5. วิธีการเล่า วิธีการบรรยาย

  6. ฯลฯ

สำหรับผมนั้น คนทำคอนเทนต์ควรคิดเรื่อง “แบรนด์” ของตัวเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นในแง่ภาพใหญ่อย่างเนื้อหาที่ตัวเองจะพูด ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ประกอบกัน เพราะมันคือการช่วงชิงโอกาสที่จะสร้าง “ความทรงจำ” ให้กับคนอ่านว่าคุณเป็นใคร และทำไมเขาถึงควรติดตามคุณ

เพราะไม่อย่างนั้นถ้าวันหนึ่งเรามีคนเทนต์ล้นตลาดแล้วเราไม่แตกต่างอะไรจากคนอื่น วันหนึ่งเราหายไปเขาก็คงไม่รู้สึกอะไร เช่นเดียวกับการที่เขาก็คงไม่รู้สึกอะไรกับที่เราอยู่ปนกับคนอื่น เพราะก็ไม่ได้มีอะไรให้น่าจดจำนั่นแหละครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page