Content Curation คืออะไร?
ในการทำคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ภายใต้แนวคิดของ Content Marketing นั้น มีศัพท์คำหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนักคือ Content Curation ซึ่งก็เป็นสิ่งที่นักการตลาดหลายคนหรือแม้แต่นักการตลาดดิจิตอลเองก็ยังสงสัยอยู่ว่าคืออะไรกัน
ต้องอธิบายก่อนว่า Curation (Curate) แปลว่าอะไร ตัวผมเองก็ได้รู้จักศัพท์นี้ครั้งแรกตอนแรกวิชาเกี่ยวกับ Museum Management เพราะ Curator นั้นแปลว่าภัณฑารักษ์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ ทีนี้พอถามต่อว่างานของภัณฑารักษ์ทำหน้าที่อะไร หน้าที่หลักๆ (พออธิบายให้เห็นภาพ) คือการจัดชุดคอลเลคชั่นต่างๆ ที่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง ซึ่งก็จะมีเทคนิคในการจัดเพื่อดึงความน่าสนใจออกมา แน่นอนว่าสมบัติของพิพิธภัณฑ์เองอาจจะมีมากมาย ไม่นับการพันธมิตรอื่นๆ อีกที่ต่างมีคอลเลคชั่นมหาศาล แต่ก็ใช่ว่าตัวพิพิธภัณฑ์จะต้องเอามาโชว์พร้อมกันหมดแต่อย่างใด ภัณฑารักษ์จึงรับหน้าที่ในการคัดสรรและเลือกคอลเลคชั่นต่างๆ มาจัดแสดงโดยมีเทคนิคการจัดชุดภายใต้คอนเซปต์ต่างๆ กัน ซึ่งนั่นทำให้การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจ น่าติดตาม และไม่น่าเบื่อ (อย่าไปเทียบกับพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่จัดชุดเดิมมาหลายสิบปีนะครับ ^^”)
ฉะนั้นแล้ว ถ้าเราจะเทียบการ Curate กลับมายังสิ่งที่เกี่ยวกับ Content นั้น ก็แปลได้ว่าเป็นการรวบรวมและคัดสรรคอนเทนต์จากแหล่งต่างๆ นำมาเผยแพร่อีกครั้งผ่านช่องทางของผู้คัดสรรโดยมีคอนเซปต์หรือวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ ซึ่งผู้คัดสรรอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องเป็นผู้สร้างคอนเทนต์นั้นๆ เลยก็ได้
ถ้าจะให้เห็นภาพขึ้นไปอีก ลองนึกภาพของ YouTube Playlist ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนสร้างขึ้น ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นคนสร้างคลิปวีดีโอเหล่านั้นเลย แต่เป็นการรวบรวมจากบรรดาวีดีโอที่มีอยู่ใน YouTube แล้วนำมาจัดเรียงในวิธีการของพวกเขาเอง บล็อกหลายๆ บล็อกก็ไม่ได้เป็นเจ้าของคอนเทนต์ต้นฉบับ แต่พวกเขาทำหน้าที่รวบรวมและคัดสรรว่าคอนเทนต์แบบไหนที่น่าสนใจแล้วเอามารวบรวมในบล็อกนั้นๆ เช่นเดียวกับการสร้าง Board ต่างๆ ใน Pinterst ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนก็รวบรวมรูปที่ตัวเองชื่นชอบเอาไว้โดยจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ
คอนเซปต์ของ Content Curation นี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในยุค Social Media เพราะผู้ใช้งานหลายๆ คนที่สร้างช่องทางของตัวเองได้แล้ว อาจจะไม่ได้มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์คอนเทนต์ต้นฉบับได้ แต่กลับมีความสามาถในการรวบรวมและเลือกว่าคอนเทนต์แบบไหนที่มีความน่าสนใจ ซึ่งนั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่หลายๆ คนเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือ User Cureated Content ซึ่งจะเป็นอีกขั้นหนึ่งของ User Generated Content
พอเรามองข้ามมายังฝั่งการทำ Content Marketing แล้ว การใช้ Curated Content ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคสำคัญของการสร้างคอนเทนต์เพื่อนำมาเผยแพร่บนช่องทางของแบรนด์เนื่องจากหลายๆ แบรนด์เองก็ไม่ได้มีพลังหรือทุนมากพอที่จะสร้างคอนเทนต์ใหม่ขึ้นมาได้หมด การใช้ Content Curation จึงเข้ามาตอบโจทย์ในแง่ของการสร้างคอนเทนต์ต่อยอดจากสิ่งที่รวบรวมและคัดสรรมาโดยพิจารณาดูแล้วว่าเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือตอบโจทย์ด้านการสื่อสารตามแผนที่แบรนด์วางไว้นั่นเอง
นี่คือเบื้องต้นของ Content Curation ซึ่งในตอนต่อๆ ไปผมจะอธิบายเพิ่มเติมว่าเราจะใช้เทคนิค Content Curation นี้มาตอบโจทย์ในการตลาดได้อย่างไรนะครับ ^^
Comments