COVID-19 กับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณาโลก
สถานการณ์ COVID-19 นั้นส่งผลกับธุรกิจในทุกภาคส่วน และอุตสาหกรรมโฆษณาเองก็เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกตั้งคำถามว่าได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากแบรนด์ธุรกิจต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงไปแล้วและก็คงจะส่งต่อมายังด้านการการตลาดและการโฆษณาในช่วงต้นปีที่ผ่านมาแน่นอนซึ่งก็มีข้อมูลน่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน
แต่ก่อนอื่นเลย เราก็ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจโลกมีการคาดการณ์ว่าจะโตขึ้น 3-6% ต่อปีและก่อนจะมี COVID-19 นั้นก็มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณาโลกจะแตะ 8.65 แสนล้านเหรียญในปี 2024 (ในปี 2019 มีมูลค่าอยู่ประมาณ 6.46 แสนล้านเหรียญ)
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ COVID-19 แล้วก็มีการรายงานต่างๆ ถึงผลกระทบเช่นการที่ Publicis Gorupe ระบุว่ารายได้ในจีนนั้นตกลงถึง 15% ส่วนรายได้ในกลุ่มประเทศยุโรปตกลงไป 7-12% (ตามแต่ละประเทศ)
รายงานดังกล่าวก็สอดคล้องไปกับการรายงานของ IAB (Interactive Advertising Bureau) ที่ระบุว่า Media Buyer, Planner และแบรนด์ต่างๆ กว่า 24% เลือกจะหยุดใช้งบโฆษณาจนกว่าจะจบ Q2 ของปี 2020 และอีก 46% ระบุว่าจะมีการปรับงบโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงโฆษณา
แน่นอนว่าช่วงการแพร่ระบายของ COVID-19 นั้นทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเช่นการทำงานอยู่บ้าน ซื้อของออนไลน์เป็นหลัก และนั่นทำให้นักการตลาดและนักโฆษณาก็ปรับการใช้งบโฆษณาของตัวเองตามพฤติกรรมดังกล่าวเช่นกัน เช่นการตัดงบโฆษณาในส่วนของป้ายโฆษณานอกอาคารต่างๆ สื่อในโรงภาพยนต์ สื่อสิ่งพิมพ์ ขณะที่สื่อที่เข้าถึงบ้านของผู้บริโภคอย่างทีวี ออนไลน์กลายเป็นสื่อโฆษณาที่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวไป
การปรับกลยุทธ์ลงโฆษณา
นอกจากการปรับงบประมาณแล้ว เรายังเห็นว่าด้วยข้อจำกัดใหม่ทำให้คนวางแผนโฆษณานั้นมีการปรับกลยุทธ์ เช่น การทำ Audience Targeting, Device Targeting, Programmatic Buying ที่มีแนวโน้มจะโฟกัสมากขึ้น
สถานการณ์ที่ทำให้ดิจิทัลแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม
สิ่งที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดคือสถานการณ์ COVID-19 นี้จะมีผลต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็จะเป็นการที่หลายๆ แบรนด์ปรับการลงโฆษณามายังดิจิทัลมากขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งก็จะยิ่งช่วยให้การตลาดดิจิทัลขยายตัวเร็วขึ้นไปอีก และก็คงจะส่งผลต่อไปให้กับหลายๆ แบรนด์ที่ได้เรียนรู้จากข้อมูลต่างๆ ที่มากขึ้นจากการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงข้อมูลจาก World Economic Forum
Comentários