Digital Management: โลกดิจิตอลที่ก้าวกระโดดกับฝันร้ายของผู้บริหารธุรกิจ
วันก่อนผมได้นั่งพูดคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจและตำแหน่งงานต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มสังเกตเห็นคือธุรกิจกลุ่มดิจิตอลโดยเฉพาะสื่อสมัยใหม่นั้นล้วนมีผู้บริหารหรือผู้จัดการที่อายุน้อยแทบทั้งนั้นเมื่อเทียบกับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ที่น่าสังเกตมากขึ้นไปอีกคือสายงานหรือธุรกิจบริการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออินเตอร์เนตกลายเป็นดินแดนที่ถูกจับจองโดยคนรุ่นใหม่แทบทั้งนั้น เรียกได้ว่าหลายคนสามารถก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่ง Management Level ได้ทั้งที่วัยยังไม่ใกล้ถึงเลข 3 เลยด้วยซ้ำ
คำถามที่เราควรเริ่มคิดคือเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมดิจิตอลรวมทั้งธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง? หรือว่านี่คือจุดเปลี่ยนของโลกธุรกิจที่หลายๆ คนอาจจะตั้งตัวไม่ทันเลยก็เป็นได้
โลกที่ก้าวกระโดดแต่คนไม่ได้กระโดดตาม
ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงของการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อเกิดอินเตอร์เนตและ Social Network ที่โตแบบชนิดนักวิเคราะห์หลายคนตั้งตัวกันไม่ทัน การเกิดเทคโนโลยีที่ทำให้คนสามารถเชื่อมต่อและหาข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นไม่รวมถึงการครอบคลุมระบบการสื่อสารทั้งโทรศัพท์มือถือหรือระบบโทรทัศน์ดาวเทียมที่ยังโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ถ้าหากมองแล้ว จะเห็นว่าช่วงนับตั้งแต่ปี 2009 มานั้น กลายเป็นช่วงที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิตอลมากที่สุดเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่การมีอินเตอร์เนตความเร็วสูง การสามารถอัพโหลดรูปภาพและวีดีโอเพื่อแชร์ได้อย่างง่ายดาย การเกิด Smartphone ที่ iPhone จุดพลุนำร่องจนกลายเป็นน่านน้ำสีแดงภายในไม่กี่ปี การเกิดธุรกิจ Social Commerce ที่ตามมาจากการบูมสุดขีดของ Social Network ที่เด็กยุคใหม่แทบทุกคนต้องมี ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงนี้ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงทฤษฏีธุรกิจและการตลาดครั้งมโหฬารเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกสอนหรือเขียนไว้ในตำรา MBA เล่มไหนๆ ธุรกิจจำนวนมากกลายเป็นไก่ตาแตกเมื่อเจอสิ่งที่เรียกว่า Social Media ผู้บริหารและนักการตลาดจำนวนมากตั้งตัวไม่ทันว่าจะรับมือกับผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในวิธีคิดแบบเก่าๆ ซึ่งถูกสอนใน Business School ได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ แต่ในขณะเดียวกันก็กลับกลายเป็นการสร้างโอกาสอย่างน่าอัศจรรย์ให้กับกลุ่มคนที่เป็น “Digital Citizen” ให้เข้ามามีบทบาทแทนคนยุคเดิมที่เป็น “Digital Tourist”
ความแตกต่างสำคัญของ Digital Tourist กับ Digital Citizen คือคนที่เป็นกลุ่ม Digital Tourist จะเป็นกลุ่มคนในยุคเก่าที่โตมากับยุค Analog แต่ได้คาบเกี่ยวช่วงเปลี่ยนเป็น Digital Age ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนก็ได้สัมผัสและรู้จัก Digital Technology บ้าง แต่ส่วนมากแล้วคนกลุ่มนี้รู้จักมันแบบผิวเผิน มีการทดลองใช้บ้างแต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้งหรือเข้าใจเป็นพิเศษเพราะยังมีการยึดติดกับโลกยุคเก่าก่อนที่จะมี Digital Technology
ผิดกับคนที่เป็น Digital Citizen ซึ่งโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีและมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเรียบร้อย คนพวกนี้จึงมีความช่ำชอง เข้าใจ และมีวิธีคิดที่สอดรับกับ Digital Technology อย่างเต็มที่ สามารถมีวิสัยทัศน์ที่มองใกล้เคียงและสอดคล้องกับอนาคตของเทคโนโลยี
ฉะนั้น เมื่อเราลองเทียบกับกาลเวลาแล้ว เราจะเห็นได้ว่าผู้บริหารธุรกิจสมัยก่อนนั้น จะเป็นผู้บริหารที่เป็น Digital Tourist แทบทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เรากลับพบว่าผู้บริหารที่เป็น Digital Tourist นั้นไม่ได้ปรับตัวตามโดยคิดว่าความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเองน่าจะเพียงพอกับการเข้าใจ Digital Technology แล้ว
อันที่จริง เราก็ต้องมองให้เห็นว่าโลกยุค Digital นั้นมีมานานแล้วตั้งแต่การเกิดทีวี เครื่องเล่น CD/MP3 หรือการเกิดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริหารที่ผ่านยุคนั้นมาก็มักจะเผลอคิดว่าตัวเองเข้าใจและรู้จักโลกดิจิตอลดีแล้ว แต่อันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานั้นน่าจะเป็นช่วงที่เรียกว่ายุค Digital 2.0 ก็ว่าได้ เพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนั้นสร้างปรากฏการณ์ก้าวกระโดดจนน่าตกใจและแทบไม่เหลือเค้าความเป็นโลกดิจิตอลในวันวานอีกต่อไป
สิ่งที่ผู้บริหารหลายคนลืมคาดคิดจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือโลกดิจิตอลไม่ได้โตขึ้นเพียงแค่เทคโนโลยีสมัยก่อนประเภททีวีจอใหญ่ขึ้น ภาพชัดขึ้น หรือคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งล้วนเขย่าทฤษฏีการตลาดเดิมแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นผู้บริหารหลายคนจึงเกิดความชะล่าใจจนกลายเป็น “ล้าหลัง” ภายในช่วงอึดใจ
การเกิดคนกลุ่ม Digital Citizen กลายเป็นเหมือนคลื่นสึนามิที่กวาดเข้าสู่โลกธุรกิจ คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตด้านความสามารถและวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลอย่างรวดเร็ว Digital Citizen กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้กับองค์กรหลายๆ องค์กรในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอลเพราะคนกลุ่มนี้เข้าใจและรู้จักมันดีมากกว่า Digital Tourist เสียอีก
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกลุ่ม Digital Citizen นั้นนอกจากจะได้รับความรู้พื้นฐานเช่นเดียวกับกลุ่ม Digital Tourist แล้ว สิ่งที่พวกเขามีเหนือกว่าคือประสบการณ์และความสามารถในการใช้ Digital Technology อย่างลึกซึ้ง มีความเข้าใจโดยที่แม้จะยังไม่มีทฤษฏีหรือตำราอะไรมาอธิบาย องค์ความรู้เกี่ยวกับ Digital Technology เหล่านี้ถูกสร้างและสะสมด้วยตัวพวกเขาในอัตตราการโตที่ต่างจากคนยุค Digital Tourist มากนัก
เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้แล้ว เราจึงเห็นคนยุคใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้บริหารสายงานธุรกิจดิจิตอลอย่างมาก เพราะพวกเขาสามารถรีดเร้นศักยภาพทางธุรกิจได้มากกว่าผู้บริหารยุคเดิม โดยที่ผู้บริหารยุคก่อนซึ่งยังคงยึดติดกับตำราเดิมยังควานหาทางออกไม่เจอเพราะตำราเดิมไม่ได้สอนไว้แถมตัวเองก็ยังไม่เคยได้เข้าใจโลกดิจิตอลใหม่อีกด้วย
ฉะนั้นแล้ว นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่กำลังเตือนผู้บริหารหลายๆ คนให้เริ่มสำรวจตัวเองแล้วว่าจะสามารถเอาตัวรอดให้โลกที่ก้าวกระโดดนี้ได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจของตัวเองสามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในฐานะผู้ชนะ
コメント