#GrowingWithGoogle – เทรนด์อนาคตของชีวิตในยุค Digital
จากที่ผมได้เล่าเรื่องงาน Growing with Google ไปก่อนหน้านี้แล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจเลยขอยกมาเขียนเป็นอีกบล็อกหนึ่ง คือ Session สุดท้ายของ Karim Temsamani ซึ่งเป็น President ของ Google Asia-Pacific ซึ่งเขาเล่าถึงอนาคตของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของเรา
หมายเหตุ: ผู้เขียนร่วมงาน Growing with Google ในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งทาง Google ได้ดูแลและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ที่พัก และการเข้าร่วมงาน โดยไม่มีการให้ค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ
ที่กล่าวมาเช่นนี้เพราะเราเองก็ผ่านการเปลี่ยนมาแปลงมาหลายยุค ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มี Internet มาจนที่ใครๆ ก็เข้าถึง Internet ได้ และก็มายุคที่ใครๆ ก็มีอุปกรณ์อย่าง Smartphone จนทำให้ Google เองก็เคยประกาศเรื่องการพัฒนาบริษัทในแนวทางของ Mobile First มาก่อนหน้านี้
แต่ตอนนี้เราได้ผ่านยุคนั้นมาแล้ว คำถามน่าคิดคือแล้วต่อไปจะเป็นไปอย่างไร?
ในเรื่องนี้นั้น Karim ได้สรุปเทรนด์ 3 อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น (ในไม่ช้าก็เร็ว) กล่าวคือ
1. Ubiquitous Computing
ผมยอมรับว่าคำๆ นี้ผมเองก็เพิ่งได้ยิน (แถมอ่านออกเสียงยากมาก) แต่คอมพิวเตอร์แบบที่ Karim กล่าวถึงนี้คือรูปแบบคอมพิวเตอร์แบบใหม่ที่มีความสามารถในการ “ฟัง” “เห็น” และ “เข้าใจ” (รวมทั้งความสามารถอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาอีกในอนาคต) ซึ่งนั่นก็มาจากความสามารถด้าน Sensor ต่างๆ ประกอบกับระบบปฏิบัติการและระบบประมวลผลที่ชาญฉลาดมากขึ้นอย่าง AI และนั่นทำให้คอมพิวเตอร์เหล่านี้สามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Google Home ที่เป็น Smart speaker ซึ่งผู้ใช้งานสามารถจะโต้ตอบและสั่งงานกับอุปกรณ์ได้ด้วยเสียง และตัว Google Home นี้เองก็สามารถเข้าใจคำสั่งต่างๆ เพื่อสามารถสั่งการอุปกรณ์อื่นๆ ต่อได้ด้วยตัวเอง
2. ประสบการณ์แบบใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีอย่าง AR / VR
ด้วยอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถสร้างรูปแบบของข้อมูลและประสบการณ์การเสพคอนเทนต์ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ใช้งานเนื่องจากเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม โดยปัจจุบันก็จะเห็นได้จากการใช้ AR / VR ที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ
ความท้าทายต่อจากนี้คือการที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็ย่อมเป็นโอกาสที่แบรนด์หรือธุรกิจจะใช้ประโยชน์เพื่อสร้างประสบการณ์ทางการตลาดแบบใหม่ให้เกิดขึ้น
3. The Next Billion User
แม้ว่าประชากรอินเตอร์เนตในปัจจุบันจะมีมากขึ้นแล้วก็จริง แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เนตเช่นเดียวกับจะมีคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาและกลายเป็นประชากรดิจิทัล ซึ่งตรงนี้ Google ก็เรียกว่า The Next Billion User โดยคนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ประชากรจากกลุ่มประเทศยุโรปเหมือนกับกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เนตยุคแรกอีกต่อไป หากแต่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานใน India หรือ Indonesia เป็นต้น ซึ่งภูมิภาค Asia-Pacific นี้เองเป็นกลุ่มภูมิภาคที่จะเป็น The Next Billion User
ความน่าสนใจของภูมิภาคนี้คือแม้ว่า ประชากรจาก Asia-Pacific จะคิดเป็นมากกว่า 50% ของประชากรอินเตอร์เนตโลก แต่จำนวนประชากรอินเตอร์เนตของ Asia-Pacific ยังถือว่าเป็นแค่ “ช่วงเริ่มต้น” เท่านั้น เพราะจะพบว่าประชากรกว่าครึ่งของ Asia-Pacific ยังไม่ได้เป็นประชากรอินเตอร์เนตเลย และนั่นทำให้ภูมิภาคนี้เป็นโฟกัสของหลายๆ ธุรกิจในปัจจุบัน (และก็จะไม่แปลกที่หลายๆ บริการต่างๆ จะเริ่มมีการปรับให้เหมาะกับกลุ่ม The Next Billion User นี้)
ในมุมมองของ Google ที่เน้นการพัฒนา AI ตอนนี้เห็นว่าระบบ AI ที่ฉลาดขึ้นนั้นจะทำให้คนกลุ่ม The Next Billion User นี้สามารถเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เนตได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม (เพราะระบบง่ายขึ้น ใช้ง่ายได้โดยไม่ต้องมีทักษะมากเหมือนสมัยก่อน)
นั่นคือ 3 เทรนด์ที่ทาง Karim ได้อธิบายปิดท้ายงาน Growing with Google เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ส่วนจะจริงไม่จริง เป็นไปตามที่เขากล่าวไว้นั้น ก็คงต้องรอติดตามกันดูล่ะครับ
Comments