top of page

HR จะหาพนักงานชั้นดีที่ซ่อนอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างไร

หลังจากที่อาทิตย์ที่แล้วผมไปบรรยายเรื่องดิจิทัลกับการบริหารบุคคลนั้น มีประเด็นหนี่งทึ่ผมเองก็เก็บกลับมาคิดต่อเรื่องการหาทรัพยากรบุคคลคุณภาพในยุคดิจิทัลนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่พอสมควร เพราะมันแสดงให้เห็นโอกาสในการค้นหา “เพชร” ที่ซ่อนอยู่โดยไม่สามารถเจอกันได้ด้วยวิธีแค่อ่าน Resume ปรกติ

ที่ผมพูดเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะในยุคปัจจุบันนั้น เทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารทำให้คนจำนวนมากสามารถศึกษาและพัฒนาความสามารถตัวเองได้สูงกว่าแต่ก่อน ทำให้ขีดจำกัดด้านการศึกษาและเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนเฉยๆ เราจึงเห็นหลายๆ คนที่อาจจะไม่ได้มีปริญญาโดยตรงหรือมีประสบการณ์ด้านการทำงานตรงสายแต่กลับมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ไม่แพ้คนที่จบตรงมา (เผลอๆ อาจจะมีมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วๆ ไปเสียอีกต่างหาก)

ถ้าเราอยู่บน “ความเชื่อ” นี้ มันก็ถือเป็นเรื่องท้าทายของฝ่ายบุคคลในการเสาะหาคนเหล่านี้มาให้กับองค์กรตัวเอง เพราะจากประสบกาาณ์ของผมเองนั้น คนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงสายหลายคนมีความมุ่งมั่นและแนวคิดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ แถมกลายเป็นทรัพยกรสำคัญขององค์กรโดยไม่รู้ตัว

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราลองมาดูกันว่าทั้งฝ่ายบุคคลและตัวพนักงานเองจะใช้ดิจิทัลในการสร้างโอกาสนี้อย่างไรได้บ้าง โดยทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดง่ายๆ ของผมซึ่งลองเอาไปต่อยอดกันได้นะครับ

มุมมองสำหรับฝ่ายบุคคล / Head Hunter

  1. ลองพิจารณาคนจาก Social Profile ของแต่ละคนดู ลองดูว่าเขาโพสต์อะไรใน Facebook / Twitter ของเขา เขาไปแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไรบ้าง บางทีคุณอาจจะเจอคนที่ชื่นชอบและหลงใหลบางเรื่องจนกลายเป็นคนที่มีความชำนาญมากๆ บนโลกออนไลน์ก็ได้ ในประสบการณ์ของผมนั้น ผมรู้จักหลายคนที่คลั่งไคล้มือถือ รู้จักมือถือดีเสียกว่าฝ่ายการตลาดมือถือบางคนเสียอีก เขียนและแชร์ข่าวต่างๆ มากมาย ซึ่งคนพวกนี้จะเป็นเหมือนขุมทรัพย์ด้าน Insight ของตลาดมือถือเลยก็ว่าได้ แต่ที่น่าตกใจคือพวกเขาอาจจะไม่ได้มีโปรไฟล์สวยหรูประเภทเรียนจบการตลาดจากมหาวิทยาลัยชื่อดังอะไรเลย

  2. องหาคนจากแหล่งชุมชนออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้เพราะการมี Social Media ทำให้เกิดการจับกลุ่มเฉพาะของคนที่มีความชื่นชอบหรือสนใจอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ อย่างบล็อกของผมก็มีหลายๆ คนที่สนใจเรื่องการตลาดดิจิทัลมาติดตาม ถ้าลองมองดูว่าใครบ้างที่เป็น Active User หรือขยันแชร์แลกเปลี่ยนความเห็น เราก็จะเห็นคนทำงานสายการตลาดที่น่าสนใจอีกหลายคน แม้ว่าพวกเขาอาจจะยังไม่ได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ แต่ก็มีความสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นเป็นพื้นที่ดีในเรื่องการเรียนรู้ (ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่พอสมควรเลย)

มุมมองสำหรับคนทั่วไปที่จะสมัครงาน

  1. อย่าใช้ Social Media เป็นแค่ที่ระบายอารมณ์เฉยๆ คุณต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่คุณทำบนโลกออนไลน์คือ Digital Footprint ให้คนอื่นได้ตามเข้ามาเช็คและล่วงรู้ว่าคุณเคยทำอะไรมา มีความคิดความอ่านอย่างไร มีกริยาอย่างไรในการโต้ตอบกับคนอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นคะแนนที่ฝ่ายบุคคลหลายคนให้ความสำคัญเช่นกัน

  2. รู้จักสร้างแบรนด์ของตัวเอง นั่นคือรู้จักใช้พื้นที่ส่วนตัว (ที่เป็นสาธารณะ) นี้ในการแสดงตัวตนที่ดูเป็นมืออาชีพ หรือดูมีทักษะ ความรู้ ความสามารถ เพื่อให้คนอื่นๆ ที่เข้ามาเห็นจะได้รู้จักภาพลักษณ์ดังกล่าวด้วย ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าเข้ามาในหน้า Profile ของคุณมีแต่ข้อความระบายอารมณ์หรือแชร์อะไรที่ไร้สาระ มันก็คงไม่สามารถสร้างคะแนนพิเศษอะไรให้คุณ แต่ถ้าคุณแชร์และแสดงความเห็นที่ดู “ฉลาดๆ” กับข่าวในอุตสาหกรรม เทรนด์ ฯลฯ มันก็แสดงความสนใจ

  3. รู้จักสร้าง Digital Asset / Digital Profile ของคุณเสียหน่อย เพราะถ้าคุณไม่อยากให้ Facebook ของคุณจริงจังเกินไป คุณก็อาจจะต้องลองหา Social Media อื่นๆ มาช่วยสร้าง Profile ให้คุณในฝั่งที่เป็น Professional เสียหน่อยเช่น LinkedIn หรือสร้าง Blog ไว้แชร์เรื่องราวน่าสนใจในงานของคุณเป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่ผมถอดจากประสบการณ์ส่วนตัว ยังไงก็ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ :)

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page