Mindset ต้องเปลี่ยน Passion ต้องสร้าง – โจทย์ใหญ่ขององค์กรยุคต่อจากนี้
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมฟังสัมมนากับทาง SEAC ที่ได้เชิญพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศอย่าง Michigan’s Ross School of Business, The Arbinger Institute และ The Ken Blanchard Companies มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ From Crisis to Opportunity: Igniting Your Business, People and Culture” ซึ่งก็มีการพรีเซนต์แนวคิดต่าง ๆ ขอองค์กรที่ต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการปรับวิธีการบริหารบุคคลซึ่งมาพร้อมกับโจทย์ใหม่ในบริบทของตลาดต่อจากนี้
ในมุมที่น่าสนใจนั้น มีประเด็นเรื่องของการที่ธุรกิจต้องเริ่มหันมาใส่ใจกับ Passion ของพนักงานมากขึ้น โดยประเด็นนี้น่าคิดอยู่ไม่น้อยกับการที่องค์กรส่วนใหญ่มักจะโฟกัสกับการทำ Engagement Survey เพื่อดูว่าพนักงานมีความผูกพันกับองค์กรมากขนาดไหน แต่เราก็มักพบว่าการสำรวจดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนถึงความสำเร็จทั้งหมดขององค์กรเสียทีเดียว โดยทาง The Ken Blanchard Companies ได้พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้คือพนักงานขาดพลังความทุ่มเทแรงใจและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยองค์กรนั้นควรจะหันมาใส่ใจกับการประเมินดูว่าพนักงานของตนมี Passion อยู่หรือไม่ (Passionate Employee) ซึ่งพนักงานที่ในกลุ่มที่มี Passion นี้จะมีความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นกับงานที่ตัวเองทำ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และอยากมีส่วนร่วมในงานอยู่เสมอ และนั่นมีความสำคัญมากกว่าพนักงานที่มีมีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียว
ประเด็นนี้ก็ดูจะเชื่อมโยงกับแนวคิดของหลาย ๆ องค์กรที่มักจะบอกว่าพนักงานจะทำงานอย่างเต็มที่และขับเคลื่อนองค์กรได้ก็เพราะมี Passion กับงานที่ทำ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นโจทย์ขององค์กรต่อทันทีว่าจะหา Passionate Employee เข้ามาได้อย่างไร เพราะคงไม่ใช่กันดูที่ประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานเหมือนการรับสมัครแบบที่ผ่านมา เช่นเดียวกับพนักงานที่มีอยู่แล้วนั้นจะสามารถเปลี่ยนพวกเขาเป็น Passionate Employee ได้อย่างไรด้วยเช่นกัน เพราะก็คงต้องยอมรับความจริงว่าพนักงานหลายคนในองค์กรก็ไม่ได้มีความอินกับอะไรกับงานที่ทำด้วย นั่นจึงนำไปสู่กระบวนการที่องค์กรจะต้องวิเคราะห์และบริหารจัดการพนักงานกันเสียใหม่เพื่อระบุปัญหาช่องว่างของ Passion นี้และรีบพัฒนาก่อนจะเสียพนักงานเหล่านี้ไป
ในอีกด้านหนึ่งนั้น เรื่องของ Mindset ก็เป็นสิ่งที่มีผลกับการทำงานในองค์กรเช่นกัน เพราะในภาวะวิกฤตต่าง ๆ จะเห็นว่าแทบทุกองค์กรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีสถานการณ์ที่บีบคั้น นำมาซึ่งปัญหาภายในต่าง ๆ โดยก็จะพบว่าหลายองค์กรเกิดความขัดแย้งมากมาย การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ช้าจนกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมากมาย สิ่งที่จำเป็นจะต้องเข้ามาเพื่อแก้ปัญหานี้ก็คือการสร้าง Mindset ที่ถูกต้องในการทำงาน ทั้งนี้เพราะ Mindset คือตัวกำหนดวิธีการคิด การตัดสินใจ และมุมมองของพนักงานต่อสิ่งรอบข้าง
สำหรับเนื่องนี้นั้น The Arbinger Institute ได้นำเสนอคอนเซปต์ที่เราน่าจะได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ก็คือเรื่องของ Outward Mindset ซึ่งว่าด้วยมุมมองที่มองเห็น “ผู้อื่น” ก่อนที่จะโฟกัสกับตัวเองเป็นสำคัญ ซึ่งการมองเห็นเป้าหมายของผู้อื่น ปรับวิธีการปฏิบัติตัวของตัวเองให้สอดคล้องกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้วิธีปฏิบัติตัวเองกับสิ่งรอบข้างนั้นดีขึ้นแทนที่จะเป็นการโทษและพยายามบังคับให้สิ่งต่าง ๆ นั้นพยายามเป็นแบบที่ตัวเองต้องการ ซึ่งนั่นมักเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ องค์กรที่อยู่ในลักษณะการทำงานแบบ Hierachy และเป็นการรับคำสั่งต่อไปเป็นทอด ๆ
สองประเด็นว่าด้วยเรื่อง Mindset และ Passion นี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาคุยกันในงานสัมมนาดังกล่าวซึ่งส่วนตัวผมแล้วก็น่าจะเป็นสิ่งที่แผนกบุคคลหลายองค์กรควรนำเอาไปพิจารณาดู เพราะเราก็คงเรียนรู้แล้วว่าสถานการณ์ที่ “ผิดปรกติ” อันเกิดจากวิกฤตต่าง ๆ นั้นสะท้อนให้เห็นว่าเราอาจจะไม่เหมาะในการทำอะไรแบบเดิม ๆ เหมือนแต่ก่อนแล้วนั่นเอง
Comments