[Q&A] โพสต์คอนเทนต์ตอนที่คนออนไลน์เยอะๆ ดีจริงหรือ?
มีคนที่เคยมาอบรมกับผมถามคำถามน่าคิดว่าจริงๆ แล้วเราควรจะโพสต์คอนเทนต์ช่วงเวลาไหนกันแน่ เพราะบางคนก็จะบอกว่าให้โพสต์ช่วงเวลาที่คนออนไลน์เยอะๆ หรือบางคนก็จะได้ยินตามสัมมนาว่าชั่วเวลาไหนที่คนจะ Engage กับคอนเทนต์เยอะแล้วเลือกเวลานั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งพอฟังข้อมูลมากๆ เข้าก็เรียกว่าอาจจะทำให้สับสนกันได้ทีเดียว
นั่นยังไม่นับกับที่หลายๆ คนฟัง “สูตร” แล้วไปลองทำตามแต่ก็พบว่าไม่ได้ผลอย่างที่คาด ก็เลยเกิดข้อสงสัยกันเป็นธรรมดา
การสื่อสารที่ “ใช่” อาจจะไม่ใช่แค่ “คนเห็นเยอะๆ”
การจะตอบคำถามว่าโพสต์กี่โมงนั้น มันก็คงต้องกลับไปถามกันก่อนว่าจริงๆ การสื่อสารที่ว่าของเรานั้นต้องการอะไร เราต้องการให้คน “เห็นผ่าน” ตัวคอนเทนต์เฉยๆ หรือต้องการให้จดจำได้ ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ หรืออย่างไร เพราะนั่นก็จะมีผลกับการตัดสินใจหลายๆ อย่างตามมา
แน่นอนว่าหลายๆ คนก็คงจะตอบกันแหละว่าการแค่ “เห็น” เฉยๆ คงไม่เพียงพอ แต่อยากให้มีโอกาสสร้างความสนใจหรือทำให้คนเห็นคอนเทนต์นั้นจดจำได้ เกิดปฏิสัมพันธ์ กดดู ต่างๆ นานา ด้วย ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราต้องวิเคราะห์เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น เพราะถ้าเรานั่งนึกๆ ดูก็จะมีหลายสถานการณ์อยู่ไม่น้อยที่ต่อให้คนเห็นคอนเทนต์แล้วแต่มันอาจจะไม่เวิร์คก็ได้ เช่น
เห็นคอนเทนต์แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองสนใจ
เห็นคอนเทนต์แล้ว แต่ตอนนี้ทำเรื่องอื่นอยู่เลยไม่ได้สนใจ
เห็นคอนเทนต์แล้ว แต่ตอนนี้มีคอนเทนต์อื่นมาดึงความสนใจแทน
เห็นคอนเทนต์แล้ว แต่ไม่ใช่เวลาที่อยากจะดูคอนเทนต์นี้
ฯลฯ
พอเป็นแบบนี้แล้ว เราจะเห็นว่ากลไกของการโพสต์คอนเทนต์ให้เวิร์คนั้นไม่ใช่แค่การ “โพสต์ให้คนเห็นเยอะๆ” เสมอไป โดยแม้ว่ามันอาจจะสร้างโอกาส “เห็น” เยอะก็จริง แต่มันก็ไม่ได้การันตีว่าจะเกิดผลอย่างที่คาด (เว้นเสียแต่คุณคาดหวังกับแค่ตัวเลข Reach เท่านั้น)
กลไกของการโพสต์ที่ “ใช่”
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะต้องดูเหตุปัจจัยอะไรบ้างเพื่อให้โพสต์แล้วมีโอกาสเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผมก็พอจะแยกเป็นเรื่องๆ ได้ประมาณนี้
ประเภทของเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร (เช่นเบาสมอง จริงจัง เป็นต้น)
รูปแบบของคอนเทนต์ (เช่น ภาพ / วีดีโอ / ลิงค์ เป็นต้น)
ความน่าสนใจของคอนเทนต์ต่อคนดู
สภาวะของคนเสพคอนเทนต์ (เช่นว่างในการดูคอนเทนต์ / ทำงานอยู่ / กำลังเดินทาง เป็นต้น)
สภาวะของกระแสคอนเทนต์ (เช่นตอนนี้มีดราม่าดังอยู่ / คนกำลังฮือฮาบางเรื่องอยู่ เป็นต้น)
กลุ่มคนตามเพจว่าเป็นคนแบบไหน
จะเห็นว่าการเข้าใจเหตุปัจจัยที่กล่าวมานั้นมีความเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่แยกขาดจากกัน และทั้งหมดจะโยงกันไปสู่คำตอบว่าแบรนด์ของเราควรจะโพสต์คอนเทนต์กันตอนไหน
หมายเหตุ: อันที่จริงก็จะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เราต้องมาคิดประกอบกัน แต่ผมขอหยิบเรื่องใหญ่ๆ ที่คิดว่ามีผลเยอะมาคุยกันก่อนนะครับ
หยุดถามหาสูตรสำเร็จกันเสียที
จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้น จะเห็นว่าการหาคำตอบตายตัวว่า “โพสต์เวลาไหนดี” เป็นสิ่งที่ยากจะตอบกันได้ และแน่นอนว่าคำตอบที่ว่านี้ก็ไม่มีวันเหมือนกันในแต่ละเพจหรอกครับ เพราะทุกคนก็จะมีคนตาม และความสนใจที่ไม่เหมือนกัน ปัจจัยเกื้อหนุนที่แทบจะคนละเรื่อง
ฉะนั้นแล้ว การถามหาสูตรหรือ Pattern สำหรับผมมันจึงเป็น “ทางลัดที่มักง่าย” ซึ่งถ้าเกิดบริบทของเพจเรามันไปคล้องกับสูตรนั้นก็รอดตัวไป แต่ถ้าไม่ใช่ก็ได้งมหาทางออกกันเหนื่อยแน่ๆ (และส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบหลังนั่นแหละ)
การหาเวลาโพสต์ที่ใช่สำหรับแบรนด์เรา
สิ่งที่ผมมักจะชวนคนมาถามให้นั่งคิดคือการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง หรืออย่างน้อยๆ ก็คือบรรดาคนที่ตามเพจของตัวเอง ว่าคนเหล่านี้เป็นคนแบบไหน พฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไรตามเงื่อนไขปัจจัยที่เรากล่าวไปแล้ว และลองคิดดูว่าเขาเห็นคอนเทนต์ของเราในช่วงเวลาไหน หรือสถานการณ์ไหนที่จะเวิร์คที่สุดบ้าง
แน่นอนว่ามันไม่สามารถหาคำตอบกันแบบเป๊ะๆ ได้ แถมการมีปัจจัยเยอะขนาดนี้คงต้องให้เจ้าของเพจทำการทดสอบและเรียนรู้กันอีกมหาศาล เพราะอย่างผมเองทำเพจนี้ก็ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และแม้ว่าจะเป็นเพจเดิม แต่แค่เปลี่ยนเนื้อหา เปลี่ยนหัวเรื่อง แล้วโพสต์เวลาเดียวกันก็ได้ลัพธ์ที่ต่างกัน นั่นยังไม่นับกับกรณีการโพสต์วันธรรมดากับช่วงสุดสัปดาห์ที่ก็จะได้ผลต่างกันอีกด้วย
ความซับซ้อนของการโพสต์ที่คาดเดาได้ไม่ง่ายจาก Algorithm
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมมักจะต้องย้ำกับคนที่ทำงานกับ Digital Platform อย่าง Facebook / Instagram ซึ่งทำงานด้วยระบบ Alogrithm นั้น มันมีปัจจัยในการเลือกคอนเทนต์ที่ซับซ้อนมากพอสมควร แม้จะมีการพยายามสรุปปัจจัยสำคัญๆ เช่นประเภทของ Format ตัว Engagement ของคอนเทนต์ ฯลฯ ซึ่งมันก็ล้วนเป็นสิ่งที่เจ้าของแพลตฟอร์มนั้นพยายามปรับและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ให้ดีขึ้น แต่แน่นอนว่าการปรับนั้นก็จะส่งผลกับการเห็นคอนเทนต์ของกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน
นั่นเลยเป็นคำเตือนให้กับบรรดาเจ้าของเพจทั้งหลายว่าอย่าได้ยึดติดกับรูปแบบที่ตัวเองทำ เพราะวันดีคืนดีมันก็อาจจะไม่เวิร์คก็ได้ และนั่นทำให้คนทำคอนเทนต์ต้องหมั่นเช็คอยู่เสมอว่าตอนนี้สถานการณ์การเห็นคอนเทนต์และปฏิกิริยาของคนตามเป็นอย่างไร ยังอยู่ในแนวเดิมหรือเปลี่ยนไปแล้ว จะได้ปรับตัวและทดลองหาทางเลือกใหม่กันได้นั่นเองล่ะครับ
Comments