Social Media Persona คืออะไร? ทำไมแอดมินต้องมี?
Persona มักจะใช้กันเยอะกับการระบุกลุ่มเป้าหมายและทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นหากถูกแทนด้วยคนหนึ่งคนแล้วจะเป็นคนแบบไหน มีปัญหาอะไร มีความสนใจอะไร (หรือที่เขาจะเรียกกันว่า Target Persona นั่นแหละ)
แต่หลักของการทำ Persona นั้นไม่ได้ใช้กับแค่ตัวลูกค้าเท่านั้น เพราะอย่างการทำแบรนด์เองก็มี Brand Persona ด้วยเหมือนกัน (ไว้วันหลังจะหยิบมาอธิบายเพิ่มนะครับ)
ทีนี้การทำ Social Media ที่แบรนด์มีสื่อเองนั้น ก็สามารถนำแนวคิดของ Persona มาทำ Social Media Persona ได้ด้วย เพราะมันเป็นหนึ่งเทคนิคในการทำให้การสื่อสารของแบรนด์ผ่านสื่อของตัวเองนั้นดูเป็นมนุษย์มากขึ้น ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าการสื่อสารบน Social Media นั้นควรจะอยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงได้กับคนทั่ว ๆ ไป
ในการทำ Social Media Persona ก็เหมือนกับการอธิบายภาพของ “แอดมิน” ของบรรดาบัญชีโซเชียลต่าง ๆ ประหนึ่งเหมือนกับการคิดว่าหากคน ๆ นี้เป็นเจ้าของเพจ เจ้าของ LINE แล้ว เขาจะโพสต์อะไร จะใช้คำพูดประมาณไหน ใช้ภาษาอย่างไร
ที่ต้องทำเช่นนนี้เพราะจะได้เกิดความคงเส้นคงวาของ “ภาษา” “โทน” และ “คอนเทนต์” ที่ใช้ในการสื่อสาร ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากเมื่อเราไม่ได้ใช้ภาษาทางการที่ค่อนข้างจะมี Pattern ระดับหนึ่ง
ตัวอย่างข้อมูลของ Social Media Persona ก็จะเกี่ยวโยงกับวิถีการสื่อสารและการสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ เช่น
เพศ / วัย (หากเป็นคน)
ระดับภาษาที่ใช้
คำที่มักใช้
คำที่เลี่ยง / ต้องห้าม
รูปแบบประโยค ความยาว วิธีการเล่าเรื่อง
ทั้งนี้ถ้าหากแบรนด์ไหนจะหาคนมารับงานแอดมินแล้ว ก็จะต้องมีการเทรนให้เข้าใจกับ Persona เหล่านี้ให้ดีเสียก่อน เพราะเวลาเขียนแคปชั่น การตอบคำถาม ตอบคอมเมนต์ จะได้ไปในทางเดียวกัน
เพราะลองคิดง่าย ๆ ครับว่าการ “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ของแต่ละคนยังพิมพ์ไม่เหมือนกันเลย ถ้าจะให้แบรนด์ของเราชัด มันก็ต้องมีไกด์ไลน์กำกับให้ชัดเจนนั่นเองล่ะครับ
Σχόλια