Trend น่าสนใจที่การตลาดไม่ควรมองข้าม
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผมพูดเรื่อง Digital Marketing Trend ไปบ้างแล้ว ทีนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่ามันมี “กระแส” บางอย่างที่น่าสนใจและคิดว่า “น่าจะมา” ในปีหน้า ซึ่งถ้าแบรนด์ไหนเข้าไปจับก็น่าจะมีโอกาสดึงความสนใจได้พอสมควรทีเดียว จะมีอะไรบ้างนั้นก็ลองมาดูกันนะครับ
1. Game & E-Sport โลกของเกมส์ที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
แม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะมองว่าเรื่องของเกมไม่ Mass และเป็นอะไรที่เหมือนของเล่นมากกว่าเรื่องจริงจัง แต่ผมก็เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าผู้บริโภคยุคใหม่จะเริ่มมี Subcutlure มากขึ้นเรื่อยๆ และ Subculture นี้จะแข็งแรงมากๆ ในกลุ่มของพวกเขาซึ่ง E-Sport น่าจะเป็น Subculture หนึ่งที่ดูร้อนแรงมากๆ ในตลาดดิจิทัลจนมีบทความหลายชิ้นในต่างประเทศเอ่ยถึงว่าเป็นเทรนด์การตลาดที่แบรนด์ห้ามละสายตาเด็ดขาด
ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าตลาดเกมวันนี้นั้นใหญ่มากกว่าที่หลายๆ คนเข้าใจและมีเม็ดเงินมหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นก็เพราะคนเล่นเกมวันนี้ไม่ใช่แค่ “เด็ก” แต่ไปถึงคนทำงาน ผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับการเล่นเกมในวัยเด็ก ซึ่งก็พร้อมจะเป็นผู้เล่นแบบ “จ่ายเงิน” ด้วย และนั่นก็ทำให้ตลาดของเกมใหญ่กว่าสมัยก่อนเยอะมาก (เพราะเด็กยุคใหม่ก็โตมากับพวกเครื่องเกมเนี่ยแหละ)
นอกจากตัวเกมแล้ว บรรดาคอนเทนต์ในโลกออนไลน์อย่าง YouTube จะเห็นว่าเต็มไปด้วยคอนเทนต์ของเกมมากมาย เรียกได้ว่า Channel ที่มีคอนเทนต์เกี่ยวกับเกมนั้นมีคนดูเยอะกันสุดๆ ชนิดรายการทีวีหลายรายการอาจจะอายกันได้เลยทีเดียว
ทีนี้วงการ E-Sport ก็ดูจะร้อนแรงสุดๆ ในช่วง 2-3 ปีหลังจากการจัดแข่งขันแบบจริงจัง เรามีผู้เล่นระดับโลกชาวไทยจนเป็นไอดอลของวงการไปแล้ว แถมในบรรดาการแข่งขันระดับโลกนั้น ทีมไทยก็สามารถเข้ารอบไปได้ไกล บางรายกก็เป็นแชมป์ไปอีก เรียกได้ว่ามันไม่ใช่วงการเล่นๆ อีกต่อไป
พอเป็นแบบนี้แล้ว เราอาจจะได้เห็นวงการ Game / E-Sport จะกลายเป็น Culture ของคนกลุ่มหนึ่งในไม่ช้าก็ได้ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสองวงการนี้อาจจะเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้าง Engagement กลับกลุ่ม Segment นี้ได้อย่างดี ซึ่งในต่างประเทศก็มีแบรนด์ที่สนับสนุนอตุสาหกรรมนี้กันจริงจังแล้วอย่าง RedBull ที่มีการจัดแข่งขันเกมกัน หรือหลายๆ แบรนด์ที่ขนาดชื่อ Name Title กันเลยทีเดียว
ก็ต้องดูว่าจะมีแบรนด์ไหนในไทยกล้าลงทุนและจับตลาดนี้ก่อนคนอื่นกัน แต่ที่แน่ๆ คือการมีภาพคู่กับกิจกรรมในอุตสาหกรรมนี้น่าจะได้ภาพดิจิทัลและทันสมัยอยู่มากโขทีเดียว
2. Better Thailand
คงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าช่วงนี้มีกระแสที่บ่นกันไปในทำนองว่า “ประเทศนี้มันเฮงซวย” เนื่องจากการไม่พอใจในคุณภาพชีวิตที่เรามักจะวิจารณ์กันว่าล้าหลัง ไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ จะด้วยเรื่องการเมือง ระบบบริหาร คุณภาพคน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็นั่นแหละที่เราจะเริ่มรู้สึกถึงความอึดอัดและไม่พอใจกับประเทศของเรา
แต่กรณีของพี่ตูนที่สร้างกระแสเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นลึกๆ ไม่ได้สิ้นหวัง และมีคนจำนวนมากพร้อมจะร่วมกันพลิกประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะเราก็อยากให้สังคมของเราดีขึ้นและส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ ผมถึงมองว่าแนวโน้มของ “คลื่นความหวัง” นี้น่าจะยังมีอยู่และพร้อมปะทุถ้ามีคนพร้อมจะเป็นตัวนำ พลักดัน หรือส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
พอมาเป็นอย่างนี้แล้ว เรื่องของ Casue-Realted Marketing น่าจะเป็นโอกาสที่ดีถ้าแบรนด์ไหนสามารถผูกตัวตนของตัวเองและเข้ามาสนับสนุนความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และคิดว่ามันก็น่าจะชนะใจคนจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนกัน
3. ความเท่าเทียมในสังคม
นอกจากเรื่องการพัฒนาประเทศหรือสังคมให้ดีขึ้นแล้ว เรื่องของการเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมในสังคมก็เป็นอีกประเด็นที่นับวันจะเริ่มมี “คลื่นใต้น้ำ” มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นความเท่าเทียมของเพศหญิงในสังคม เพศที่สาม การรักเพศเดียวกัน ฯลฯ ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นอีก Social Movement ที่แบรนด์อาจจะต้องลองสำรวจดูว่ามีอะไรที่ตัวเองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง (และเข้ากับตัวเอง)
4. Nostalgia
อย่างที่กล่าวไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้ว่าโลกที่พุ่งไปในเรื่องไฮเทคๆ นั้น ก็ไม่แปลกที่หลายๆ คนเองก็จะรู้สึกหวลถึงอดีต การกลับไปนึกถึงหรือชื่นชมอดีตที่มีคุณค่าซึ่งอันนี้น่าจะตอบโจทย์มากกับคนทั้งรุ่น Baby Boomer / Gen X / Gen Y ที่ผ่านยุคก่อนดิจิทัลและมีประสบการณ์ “คลาสสิค” อยู่ในความทรงจำ การเล่นประเด็นเรื่องนี้เลยอาจจะเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
5. คุณค่าและคุณธรรม
อีกเรื่องที่มาควบคู่กับเรื่อง Nostalgia คือการที่คนจำนวนมากก็เริ่มรู้สึกและบ่นกันบ่อยๆ ว่าเทคโนโลยีทำให้คนเราเริ่มลดคุณค่าทางจิตใจลงไปและไปให้ความสำคัญด้านวัตถุมากขึ้น และนั่นทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม ความถูกต้อง ตลอดไปจนถึงคุณค่าทางจิตใจที่เราคิดว่าจำเป็นต่อสังคม (และเอาจริงๆ คือเรามักเห็นการเอาเรื่องพวกนี้มาทำ Hero Content กันบ่อยๆ และก็มักจะได้ผลดีด้วย)
นี่เป็นตัวอย่างของ “กระแส” ที่ผมคิดว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยและต้องมาดูกันว่ามีแบรนด์ไหนจะสามารถเข้ามาจับกระแสนี้และใช้ประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองได้กันนะครับ
Comments