top of page

กฎหมายต้องรู้ในการโฆษณาอาหาร

ปรกติเวลาเราพูดเรื่องกฎหมายของการโฆษณาอาหารนั้น เรามักจะคิดถึงพวกอาหารเสริมต่าง ๆ ที่ต้องมีการบรรยายสรรพคุณจนทำให้เกิดการร้องเรียนกันมากมาย

แต่จริง ๆ แล้วนั้น แค่การขายอาหารปรกติ ก็นับอยู่ในตัวบทกฎหมายนี้ด้วยเหมือนกันนะครับโดยในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรื่องหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2561 นั้นมีการระบุเรื่องของการโฆษณาอาหารไว้ดังนี้

“การโฆษณาอาหาร” คือการกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเกี่ยวกับอาหาร ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อประโยชน์ในทางการค้า (ฉะนั้นการว่าจ้าง Influencer ในโปรโมทหรือรีวิว ก็นับอยู่ด้วยนะครับ)

การโฆษณาอาหารต้องไม่ใช้ข้อความในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม ดังต่อไปนี้

  1. ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดในอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งความจริงไม่มี หรือมีไม่เท่ากับที่ทำให้เข้าใจตามโฆษณา

  2. ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจลักษณะหรือวิธีการบริโภคอาหาร

  3. ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

  4. สนับสนุนโดยตรงหรือทางอ้อมให้กระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม

  5. ก่อให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่จะนำมาซึ่งอันตรายรุนแรง

  6. ข้อความที่เป็นการแนะนำ รับรองหรือยกย่องคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือคนที่อ้างตนทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์

  7. เปรียบเทียบหรือทับถมผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น

การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารต้องไม่มีลักษณะเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความเชื่อโดยไม่สมควร กล่าวคือ

  1. ข้อความอันเป็นเท็จ

  2. แสดงให้เห็นให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด รักษา บรรเทา หรือป้องกันโรค ความเจ็บป่วย หรืออาการโรค

  3. สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกาย หน้าที่การทำงานอวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย

  4. สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่าบำรุงกาม บำรุงเพศ หรือเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์

  5. สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่าบำรุงผิวพรรณเพื่อความสวยงาม

  6. สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่ามีผลต่อการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน (เว้นแต่กรณีอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

  7. สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่ามีผลต่อการกระชับสัดส่วน ดักจับไขมัน

  8. อ้างอิงรายงานวิชาการ สถิติที่ยังไม่ผ่านการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

แม้ว่าจริง ๆ แล้วกฎระเบียบดังกล่าวอาจจะดูโฟกัสไปเรื่องอาหารเสริมต่าง ๆ แต่ในมุมหนึ่งก็สามารถตีความครอบคลุมการโฆษณาอาหารต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะมีการอธิบายเพิ่มเติมว่ามีคำที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณของอาหารเช่น

ศักดิ์สิทธิ์ / ชั้นเลิศ / หนึ่งเดียว / ดีที่สุด / มหัศจรรย์ / ยอดเยี่ยม / ที่หนึ่งเลย / ล้ำเลิศ / ปาฎิหาริย์ / เยี่ยมยอด / ที่สุด / เลิศล้ำ / เลิศที่สุด / สุดเหวี่ยง / ยอดไปเลย / ดีเด็ด / ดีเลิศ / วิเศษ / เยี่ยมไปเลย ฯลฯ

(อ้างอิงจากหลักเกณฑ์และข้อแนะนำในการโฆษณาอาหาร)

ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่จะโฆษณาอาหาร ไม่ว่าจะทำด้วยตัวเอง หรือจะทำผ่าน Influencer หรือบรรดา Influencer ที่คิดจะรับงานรีวิวอะไรนั้น ก็ควรศึกษากฎหมายเหล่านี้ให้แม่นยำ

เพราะถ้าโดนแจ้งจับดำเนินคดีแล้ว ก็อาจจะไม่สนุกหรอกนะครับ

Comentarios


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page