top of page

กฏเหล็กห้ามทำของ SME – แง่คิดดีๆ ของบริษัทชั้นเยี่ยมจากญี่ปุ่น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปฟังสัมนา “เติมห้วใจให้ธุรกิจ คิดแบบญี่ปุ่น” ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการเชิญผู้บริหารของบริษัทที่น่าสนใจในญี่ปุ่นมาเล่ามุมมองน่าคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างจะเยอะ ผมจะพยายามแบ่งมาเขียนเป็นตอนๆ โดยบล็อกวันนี้จะขอหยิบแง่คิดจากบริษัท Sakura Jutaku มาเล่าให้ฟัง

ต้องเกริ่นกันก่อนว่าบริษัท Sakura Jutaku นั้นเป็นบริษัทรับ Renovate บ้าน ซึ่งถ้าว่ากันด้วยขนาดแล้วก็เป็นยังเป็น SME อยู่เลยก็ว่าได้ มีพนักงานอยู่ราวๆ 50 คน และมีทุนบริษัทอยู่ไม่ถึง 100 ล้านเยน แต่บริษัทนี้ได้รับรางวัลเป็นหนึ่งใน “บริษัทที่มีคุณค่ามากที่สุดในญี่ปุ่น” เลยทีเดียว

ในตอนหนึ่งของการบรรยายนั้น Takanori Ninomiya ซึ่งเป็น CEO ของบริษัทได้อธิบายหลัก “ข้อห้าม” ของ SME เอาไว้ ซึ่งผมว่าน่าสนใจทีเดียว

1. การเข้าสู่สงครามราคา

ข้อคิดนี้คือการเตือนไม่ให้ SME ที่จะปรับลดราคาเพื่อสู้กับคู่แข่งซึ่งหลายๆ คนก็มักจะใช้กันเพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ตัดราคาและเข้าสู่สงครามราคานั้นจะสร้างผลเสียระยะยาวให้กับธุรกิจ ถ้าว่ากันง่ายๆ คือจะขึ้นราคาอีกก็คงไม่ง่ายแล้ว แถมการตัดราคาก็เท่ากับต้องแบกภาระต้นทุนด้วยกำไรที่ลดลง แถมถ้าตัดกันไปตัดกันมา สุดท้าย SME ตัวเล็กๆ ก็อาจจะเจ็บหนักกว่าใครเพื่อน

แล้วถ้าไม่ตัดราคาจะทำอะไร? เอาจริงๆ มันก็มีวิธีในการทำธุรกิจโดยไม่ได้ชูจุดขายเรื่องราคา แต่คือการให้บริการที่ประทับใจ สร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าและทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเงินที่ตัวเองจ่ายไปนั้นคุ้มค่า ด้วยเหตุนี้บริษัทของเขาจึงไม่เคยลดราคาหรือให้มีการต่อราคาจากลูกค้า แต่เป็นบริษัทที่โฟกัสเรื่องการให้บริการต่างๆ มากชนิดที่ว่ามีการเทรนนิ่งในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แม้กระทั่งเรื่องมารยาทในการคุยกับลูกค้าเลยทีเดียว แต่ผลก็คือมันทำให้บริษัทของเขานั้นเป็นที่ประทับใจของลูกค้าและทำให้ธุรกิจของเขายั่งยืนตลอดมา

2. การสร้างสงครามในที่ทำงาน

สิ่งที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเลยคือการที่พนักงานในบริษัทจะก่อดราม่ากัน การแข่งขันอาจจะเป็นกลไกที่จูงใจให้พนักงานถีบตัวเองให้เก่งกว่าเดิม ทำงานเต็มที่ แต่เอาจริงๆ มันอาจจะทำให้สายสัมพันธ์และความรู้สึกของคนในที่ทำงานแย่ต่างหาก

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ SME ควรทำในองค์กรคือการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้พนักงานช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุยเป้าหมายใหญ่ของบริษัท การร่วมมือร่วมใจนั้นทำให้องค์กรเป็นอันหนึ่งอันเดียวและสามารถนำไปสู่การให้บริการที่ดีเยี่ยมกับลูกค้าได้

3. แตกไลน์ธุรกิจเยอะๆ

พอเราทำธุรกิจไปได้ถึงจุดหนึ่ง หลายๆ คนก็จะเริ่มเกิดไอเดียใหม่ๆ และอยากสร้างไลน์ธุรกิจเพิ่มให้กับบริษัทของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามเราก็มักพบว่าน้อยคนที่จะทำได้แล้วเวิร์คเพราะส่วนมากลายเป็นว่าการเพิ่มไลน์ธุรกิจทำให้เกิดความยุ่งเหยิง ไม่โฟกัส และกลายเป็นว่าสร้างปัญหามากกว่าเดิม

คำแนะนำของเขาคือธุรกิจควรมีธุรกิจเพียงอันเดียวแต่ทำให้ดีที่สุด โฟกัสและใช้ทรัพยกรขององค์กรเพื่อยกระดับสิ่งที่ทำอยู่นั้นให้ “ดีขึ้น” และ “ดีเยี่ยม” ซึ่งนั่นจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้ธุรกิจยั่งยืนอยู่ในตลาดได้

เรื่องราวของบริษัท Sakura Jutaku ยังมีอีกเยอะ ไว้ผมจะหยิบมาเขียนสรุปเป็นประเด็นต่างๆ อยู่เรื่อยๆ นะครับ :)

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page