top of page

การทำ Real Time Content ไม่ใช่การทำคอนเทนต์หน้าตาเหมือน ๆ กัน

การทำ Real-Time Content เหมือนจะเป็น “ท่านิยม” ของการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ในช่วงหลัง ๆ ดังที่เราเห็นบ่อยจากเคสของการทำคอนเทนต์หน้าตาเหมือน ๆ กัน ใช้มุกแบบเดียวกัน บางทีก็เรียกว่าแทบจะก๊อปข้อความกันมาเลย เปลี่ยนแค่อาร์ตเวิร์คหรือคำพูดอะไรกันนิดหน่อย

ถ้าถามว่าแบบนี้ผิดหรือไม่นั้น มันก็คงจะไม่ได้ถึงขั้นชี้ผิดถูกกันได้เด็ดขาด

แต่มันคงจะทิ้งคำถามไว้แบบที่ผมถามตอนเห็นคอนเทนต์เหล่านี้ว่า

“ทำไปทำไม ?”

และ

“ทำไมต้องทำแบบนี้ ?”

ต้องอธิบายกันก่อนว่าการทำ Real-Time Content นั้นมีรากตั้งต้นจากการพยายาม “เกาะกระแส” ของสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ ส่วนจะเกาะกระแสเพื่ออะไรนั้นก็สามารถมองได้หลายวัตถุประสงค์ เช่นการแสดงจุดยืนร่วม การสนับสนุน การขอแชร์การมองเห็น การพยายามขอเอี่ยวกับสิ่งที่คนคุยกัน ฯลฯ ซึ่งนั่นก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่แบรนด์จะทำ โดยเราก็อาจจะคุ้น ๆ กันแบบการทำคอนเทนต์เทศกาลต่าง ๆ หรือวาระสำคัญเป็นต้น ทั้งนี้การเการะกระแสในปัจจุบันนั้นมีบ่อยขึ้นจากกระแสหลายอย่างที่ขึ้นมาเป็น Trending Topic กันบ่อย ๆ

แต่คำถามที่ตามมาคือเราจะเกาะกระแสนี้กันอย่างไร ? และการทำ Real-Time Content มันอยู่ในรูปแบบไหนกันถึงจะดี ?

สิ่งที่เราเห็นจากการเกาะกระแสช่วงหลัง ๆ นั้นคือการทำคอนเทนต์ที่อยู่ใน “มุกเดียวกัน” หรือทำเหมือน ๆ กันตามกันหมด ตั้งแต่เคสของ “จดหมายถึงคนธรรมดา” จนถึง “ถ้า MV ถึง 100 ล้านวิว” ที่เรียกว่าจะถอดแบบโครงสร้าง ประโยค กิมมิคกันมาเลยทีเดียว

มันคงไม่ผิดอะไรที่จะทำ แต่คำถามที่ผมคงจะถามกลับไปว่า

“ทำไมไม่เกาะกระแสแบบที่ใช้ไอเดียตัวเองล่ะ ?”

นั่นเป็นประเด็นที่ผมคุยกับเพื่อนในวันนี้ว่ามันมีวิธีการมากมายที่จะโหนกระแสดังกล่าวโดยที่สร้าง “เอกลักษณ์” ของตัวเองโดยไม่ใช่การก๊อปไอเดียคนอื่นมาทำต่อ ซึ่งสุดท้ายมันก็จะโดนไหลกลืนไป หรืออาจจะดู “ตื้นเขิน” เสียด้วยอีกต่างหาก

หรือเราอาจจะลองคิดกันดูเสียหน่อยว่าทำไมเราไม่เห็นเคสแบบ “ทำตามกัน” ในต่างประเทศหรือแบรนด์ดัง ๆ แต่อย่างใด เพราะนั่นอาจจะเป็นการแสดงภาพตัวตนของการ​ “เลียนแบบคนอื่น” แทนที่จะแบรนด์ควรจะมีความแตกต่างจากคนอื่น

ประเด็นนี้อาจจะต้องทำให้เรากลับมาทบทวนกันเสียหน่อยว่าการทำ Real-Time Content นั้นไม่ใช่การเห็นคอนเทนต์อะไรเป็นกระแสแล้วก็ก๊อปปี้มาทำตาม ๆ กัน ไม่ใช่เห็นว่าโพสต์ไหนฮิตแล้วก็เอามาทำซ้ำต่อ ๆ กันไป เพราะมันอาจจะกระเทือนกับภาพลักษณ์ของแบรนด์มากกว่ายอดจำนวนคนกดไลค์ที่เกิดขึ้นให้คนทำคอนเทนต์เอาไว้โชว์ในรายงานกัน

ลองคิดจากตัวอย่างกรณีของเหตุการณ์ล่าสุดนั้น มันมีมุมอื่น ๆ อีกมากมายที่เราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว MV ใหม่แฃะการกลับมาของ Blackpink โดยไม่ต้องทำตามคนอื่นก็ได้โดยไม่ต้องใช้ Mechanic เดียวกัน

และนั่นต่างหากคือการแสดงกึ๋นของความคิดสร้างสรรค์ การแสดงไอเดียของแบรนด์ให้น่าสนใจอย่างแท้จริง

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page