การเข้าใจเรื่อง "แบรนด์ที่แข่งขันได้"
"การสร้างแบรนด์ก็เรื่องหนึ่ง การสร้างแบรนด์ให้แข่งขันได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง"
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ผมคุยกับศิษย์เก่า dots academy ที่เราเจอกันวันก่อนแล้วมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบาการณ์กันโดยหนึ่งใน Topic ที่เราคุยกันนั้นคือเรื่องของการสร้างแบรนด์ที่ตอนนี้หลายธุรกิจให้ความสนใจ
สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดอยู่บ่อย ๆ คือธุรกิจนั้นมีแบรนด์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพราะมันคือภาพจำของธุรกิจที่มีต่อคนอื่น ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจจนไปถึงคนที่ชื่อว่าลูกค้า ซึ่งแบรนด์ดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของชื่อบริษัท แต่อาจจะเป็นภาพจำของเจ้าของ ภาพจำของบริการต่าง ๆ เช่นร้านข้าวแกงที่เราอาจจะจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่เรา "จำร้านข้าวแกง" ได้
แล้วตรงนี้เองที่การ "สร้างแบรนด์" จะเข้ามาเพื่อทำให้ภาพจำที่ว่านั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ถูกสื่อสารออกไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำไปได้ในแบบที่ธุรกิจวางเอาไว้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่หลายคนเลือกแต่งตัวแต่งหน้าทำผมเพื่อสะท้อนบุคลิกภาพที่เราต้องการให้คนอื่นมองและจำเราได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธุรกิจก็ต้องเข้าใจด้วยว่าแม้จะมีแบรนด์แล้วนั้น ก็ใช้ว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะการมีแบรนด์กับการมีแบรนด์ที่แข่งขันได้ก็ไม่เหมือนกัน เปรียบเสมือนกับที่เราสร้างภาพลักษณ์ดีเพื่อจะจีบสาวสักคน แต่อาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถแข่งขันกับคนอื่นที่เข้ามาจีบสาวคนนั้นแข่งกันเรา ตรงนี้ก็จะเป็นระดับที่แตกต่างกันทำให้การออกแบบแบรนด์เพื่อแข่งขันจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์และคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่ว่าจะเอาแค่แบรนด์สวย โลโก้เด่น สโลแกนคมแต่อย่างใด
ความละเอียดในกระบวนการคิดนี้เองที่เรามักจะเตือนให้ผู้ประกอบการหลายคนที่คิดอยากจะ "มีแบรนด์" ให้ทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกับต้องเข้าใจหากจะไปจ้างเอเยนซี่ช่วยปรับแบรนด์ของธุรกิจเรา เพราะการมีแบรนด์ให้กับธุรกิจเรา กับการมีแบรนด์ให้เราแข่งขันกับคู่แข่งได้นั้นก็แตกต่างกัน
และหากไม่ระวังแล้ว เสียเงินมากมายทำแบรนด์อาจจะกลายเป็นการเสียเปล่าเอาเลยก็ได้
Comments