การเป็นทีม คือการที่เราไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง
เมื่อวันก่อน ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ผมกลับไปดูซีรี่ย์ญี่ปุ่น IRYU: Team Medical Dragon 2 อีกครั้งหลังจากที่เคยดูครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน และตอนที่ผมเลือกดูคือตอนที่ทีมผ่าตัดต้องเจอเคสบรมยาก (จริงๆ มันก็ยากทุกเคสนั่นแหละ) และต้องฝากความหวังให้กับแพทย์ที่ดูแลเครื่องมือหัวใจและปอดเทียม แน่นอนว่าในภาวะความเห็นความตายนั้น ใครๆ ก็ต้องขวัญหนีดีฝ่อและอยากปฏิเสธที่จะรับความรับผิดชอบเพราะเรียกได้ว่าชีวิตคนไข้ฝากเอาไว้กับคนหนึ่งคนเลยทีเดียว
แต่ในภาวะวิกฤตนั้น มีคำพูดคำหนึ่งที่ออกมาจากพระเอกว่า “ต่อให้นายทำไม่ไหว แต่นายยังมีเพื่อนร่วมทีมที่พร้อมจะสนับสนุนเสมอ นายน่ะไม่ได้สู้เพียงลำพังหรอกนะ”
และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตอนและทำให้ทีมผ่าตัดสามารถรักษาคนไข้ในสภาวะที่แทบจะยากบรรลัยให้สำเร็จได้
ที่ผมรู้สึกสะดุดกับเรื่องนี้ตั้งแต่ดูครั้งแรกแล้วนั้น ก็เพราะการเข้าใจความหมายและคุณค่าของ “ทีม” ที่ไม่ใช่แค่การเอาคนมารวมๆ กันแล้วทำงานด้วยกันเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกได้ว่าหากเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีคนอื่นๆ ที่พร้อมเข้ามาช่วยและพร้อมจะทำหน้าที่แทนเราได้
Simon Sinek เองก็เคยพูดถึงกรณีแบบนี้ว่าทำไมทหารถึงพร้อมจะลุยเสี่ยงตายเข้าไปช่วยคนอื่นๆ ในทีมเดียวกันหรือประเภทที่เรียกกันว่า “ตายแทนกันได้” เพราะพวกเขาจะมีความคิดที่ไม่ต่างกันว่า “ถ้าเป็นคนอื่น พวกเขาก็จะทำแบบเดียวกับผม”
ผมว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่คนทำทีมควรจะเข้าใจว่าหัวใจของการสร้าง “ทีมงาน” นั้นไม่ใช่แค่เรื่องการเอาคนเก่งๆ หรือเอาคนที่ผ่านคุณสมบัติมาอยู่ด้วยกันให้ได้ มันไม่ใช่เรื่องของการสร้างทีมฟุตบอลที่รวมซุปเปอร์สตาร์ราคาแพงแต่กลับไม่สามารถเล่นเข้าขากันหรือช่วยเหลือให้ทีม “เอาชนะ” ได้
และหนึ่งในหัวใจสำคัญคือการทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว กำลังสู้กับปัญหาเพียงคนเดียว
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับองค์กรหรือออฟฟิศต่างๆ ที่แม้ว่าจริงๆ เราจะมีการแบ่งทีมแบ่งแผนก แล้วเราก็มักทำกิจกรรมประเภท Team Building กันอยู่เสมอๆ แต่พอกลับไปทำงานจริงก็กลายเป็นต่างคนต่างทำ อยู่กับงานของตัวเอง แล้วก็มักจะเจอบ่อยๆ ที่พนักงานจะถูกโดดเดี่ยวกับกองงานประเภทที่ “ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร”
มันเลยเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เสียหน่อยว่าเราพูดถึงการทำงานแบบ “ทีมเวิร์ค” อยู่ตลอดเวลาแต่เอาจริงๆ เรากลับแค่ “ทำงานที่เดียวกัน” แต่อาจจะไม่ได้รู้สึกเป็นทีมเลยก็ได้
พอเป็นอย่างนี้แล้ว เราในฐานะคนทำงานหรือแม้แต่ผู้บริหารต่างอาจจะต้องกลับมาสำรวจตัวเองกันใหม่เสียว่าการทำงานแบบ “ทีม” ที่องค์กรมีอยู่นั้นเป็น “ทีม” จริงหรือเปล่า แล้วทีมแบบไหนกันแน่ที่องค์กรควรจะมี เช่นเดียวกับทำอย่างไรที่จะให้เกิดทีมแบบนั้นได้
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เรามักจะเห็นในทีมที่ยอดเยี่ยมคือเรื่องของการ “เชื่อใจกัน” ที่แม้ทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ลืมที่จะดูคนอื่นในทีมและพร้อมจะลงไปช่วยเหลือหากเกิดปัญหา และนั่นทำให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยได้อยู่ลึกๆ ในใจว่าต่อให้เจอปัญหาอะไร “พวกเขา” จะช่วยกันก้าวข้ามไปได้ ไม่ใช่แค่ตัวเขาเพียงคนเดียว
แล้วคุณล่ะครับ วันนี้ทีมของคุณเป็นแบบไหนกัน?
Comentarios