ก้าวแรกสู่การเป็นบล็อกเกอร์ #2: ออกแบบวางแผนการทำบล็อก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราพูดกันไปแล้วเรื่องการตั้งต้นที่จะเขียนบล็อกและเริ่มทดสอบตัวเองว่าเราจะเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้แล้วนั้น ทีนี้เราลองมาคิดกันต่อว่าเราจะต้องวางแผนอะไรอีกบ้างที่เป็นพื้นฐานสำคัญๆ ของการสร้างบล็อกที่ดี
1. วินัยและความถี่ในการเขียนบล็อก
มีหลายคนถามผมว่าควรเขียนบล็อกถี่แค่ไหน อันที่จริงมันก็ไม่มีสูตรตายตัวหรอกครับ บางคนอาจจะเขียนถี่มากๆ แบบผม (คือแบบวันละบล็อก) ในขณะที่บางคนอาจจะเขียนประเภทอาทิตย์ละบล็อก บ้างก็สองสามวันบล็อก ซึ่งมันก็ไม่ได้บอกว่าเขียนบ่อยจะดังกว่าเขียนไม่บ่อยเสียเมื่อไร
ผมมักเปรียบเทียบว่าความถี่มันก็คล้ายๆ กับการปล่อยหมัดของนักมวย สมมติถ้าหมัดของคุณเบา กลยุทธ์ที่น่าพิจารณาคือการปล่อยหมัดให้เยอะเพื่อสร้างโอกาสได้มากขึ้น แต่ถ้าคุณเป็นประเภทหมัดหนัก อาจจะไม่ต้องปล่อยบ่อยๆ เพราะปล่อยทีก็เล่นเอาจุกเสียแล้ว
ลองมองย้อนกลับมาเรื่องการเขียนบล็อก ถ้าบล็อกของคุณไม่ได้มี “พลัง” มากชนิดทำให้คนฮือฮามาอ่านได้ การสร้างความถี่อาจจะช่วยในการเก็บทีละเล็กทีละน้อย สร้างภาพจำและเพิ่มโอกาสคนอ่านได้ (แต่ถ้าบล็อกมันไม่น่าอ่านเสียเลย ปล่อยไปเยอะก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดีนะฮะ)
ในขณะที่บางคนอาจจะนานๆ เขียนทีแต่โดนสุดๆ อย่างบล็อกของ spin9.me ที่ใช้เวลาเขียนนาน ไม่ได้ออกมาบ่อย แต่บล็อกน่าสนใจและถูกแชร์เยอะ มันก็ได้ผลเช่นกัน
ทีนี้เราก็ต้องกลับมาถามว่าตัวเราเหมาะกับเขียนบล็อกแบบไหน เราเป็นประเภทที่สามารถสร้างคอนเทนต์ดีๆ ได้หรือไม่ (อย่าลืมว่าคอนเทนต์ดีๆ ก็ย่อมใช้พลังมากเช่นกัน) หรือเราจะเป็นประเภทคอนเทนต์กลางๆ แต่อาศัยลูกขยันเข้าสู้
ผมก็ไม่มีคำตอบหรอกครับ คงต้องอยู่ที่แต่ละคนจะดูขีดความสามารถของตัวเองว่าทำได้ขนาดไหน
2. ข่องทางในการเผยแพร่บล็อก
เขียนบล็อกทั้งทีไม่มีคนอ่าน ไม่ใช่ว่าคอนเทนต์ไม่ดี แต่อาจจะจะเกิดจากเรื่องง่ายๆ คือ “ไม่มีคนเห็น” ฉะนั้นคุณก็ต้องคิดและเผื่อใจในระดับหนึ่งสำหรับช่วงแรกๆ ว่าอาจจะไม่มีคนมาเจอของดีที่คุณสร้างเลยก็ได้
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คนทำบล็อกต้องคิดเอาไว้ควบคู่กับการเขียนบล็อกก็คือการประชาสัมพันธ์บล็อก ลองคิดดูว่าทำอย่างไรที่คนจะมาเห็นคอนเทนต์ของเรา
ในช่วงแรกๆ การแชร์ผ่าน Facebook ของตัวเองอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ แต่ถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็ต้องมาเรื่องการสร้างฐานช่องทางเผยแพร่คอนเทนต์แบบยั่งยืนด้วยเหมือนกัน
ถ้าเป็นสมัยก่อน เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ยุค Social Media ในปัจจุบันอาจจะง่ายขึ้นกับการทำ Facebook Page ที่สามารถกลายเป็นฐานกระจายสู่แฟนๆ ที่กดไลค์ติดตาม (แน่นอนว่าคุณก็ต้องคิดด้วยนะว่าจะสร้างฐานแฟนได้อย่างไร)
อย่าลืมว่าของดีแต่คนไม่เจอ มันก็คงเป็นของที่คนไม่ได้เห็นอยู่นั่นแหละ
3. แพลตฟอร์มในการเขียนบล็อก
จะเขียนบล็อกทั้งทีก็ต้องไม่ลืมถามว่าจะเขียนที่ไหน เอาจริงๆ เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องหลังๆ ที่ควรถามเพราะก่อนที่จะมาถามเรื่องนี้ก็ควรจะคิดให้แตกเสียก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไร จริงจังแค่ไหน
ทีนี้ถ้าผ่านจุดนั้นมาแล้ว เราก็จะมาดูทางเลือกในตลาดว่ามีทางไหนบ้าง การจะเปิดเว็บไซต์เองเลยอาจจะฟังดูดีแต่ก็ต้องถามว่าคุณคุ้นเคยกับการใช้ระบบจัดการคอนเทนต์เช่นพวก WordPress แค่ไหน ถ้ายังไม่เคย การไปลองใช้งานก่อนที่ wordpress.com อาจจะดูเข้าท่า แล้วพอคุ้นเคยหรือเริ่มอยู่ตัวจะย้ายมาเปิดเว็บทีหลังก็ไม่เสียหาย
ที่บอกอย่างนี้เพราะหลายๆ คนมักใจร้อน (ผมเองยังเป็น) อยากเปิดเว็บของตัวเอง แต่พอเริ่มทำกันไปจริงๆ สัก 1-2 อาทิตย์ก็เหนื่อย ไม่อยากอัพเดท เบื่อ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นบล็อกร้างที่ขาดการอัพเดทไปเสีย
ฉะนั้นการเริ่มต้นด้วยการไปใช้แพลตฟอร์มฟรีอย่าง wordpress.com / blogger.com ให้เราคุ้นมือในการเขียนบล็อกก่อนน่าจะการฝึกตัวเองที่ดีหน่อย อย่างน้อยคุณก็ยังไม่ต้องเสียเงินค่าโฮสต์หรือจดทะเบียนเว็บ
เว้นเสียแต่ถ้าจะเอาจริงจัง และใช้เป็นเครื่องมือมัดใจตัวเองก็อีกเรื่องน่ะนะครับ
Comments