top of page

“ขอเวลาปรับตัว” – ข้ออ้างขององค์กรและผู้บริหารที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของ Digital Tran

ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้คุยกับหลายๆ คนเรื่องของการทำ Digital Transformation ในองค์กรซึ่งตอนนี้เรียกว่าเป็นประเด็นร้อนในหลายๆ บริษัทหลังจากที่เราเริ่มเห็นผลของการปฏิวัติดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อ โทรคมนาคม ค้าปลีก ธนาคาร ฯลฯ

แม้ว่าหลายๆ องค์กรจะพยายามบอกว่าตัวเอง “ตื่นตัว” กับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว แต่เอาจริงๆ แล้วสำหรับผมนั้นกลับคิดว่าค่อนข้างจะช้าไปเสียด้วยซ้ำ (แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ตื่นตัวเลยน่ะนะ)

ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะตอนนี้สถานการณ์ที่องค์กรต่างๆ มักจะอธิบายตัวเองคือ “อยู่ในช่วงปรับตัว” ซึ่งก็ไม่พ้นกับการขอเวลาทำการศึกษา เวิร์คช้อป เพื่อทำร่างแม่แบบการปรับเปลี่ยนองค์กรในอีก 3-4 ปีข้างหน้า (หรือบางคนก็บอก 5-6 ปี) บ้างก็เริ่มให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยเหลือ ทำการศึกษาธุรกิจใหม่แล้วก็จัดอบรมมากมายให้กับเหล่าผู้บริหารและผู้จัดการต่างๆ เพื่อจะได้มีความรู้และความเข้าใจมากขึ้นกับดิจิทัล

เอาจริงๆ มันก็เป็นเรื่องดีอย่างที่บอกแหละครับว่าการตื่นตัวขององค์กรก็ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่สิ่งที่ผมเริ่มพูดอย่างจริงจังในหลายๆ เวทีคือตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงที่ “เร่งด่วน” มากกว่าที่จะเหล่าผู้บริหาร “ขอเวลา”

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหัวข้อยอดฮิตที่ทุกๆ แห่งจะหยิบมาพูดในทุกๆ ปี เราจะได้ยินเหล่าผู้บริหารบอกเสมอว่าถึงยุคการเปลี่ยนแปลง เราจะปรับตัว ปรับวิธีการทำงานรับยุคใหม่อะไรก็ว่าไป แต่พอเรานั่งคุยกันในบรรดาคนทำงานนั้น มีน้อยบริษัทมากที่จะทำได้จริงอย่างที่บอก แถมบริษัทส่วนใหญ่จะเข้าอีหรอบว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้จะผ่านไปหลายปีก็ตาม

ความน่ากลัวของยุคนี้คือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนั้น “ได้เริ่มไปแล้ว” และผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่ใช่เพิ่งเริ่ม นั่นหมายความว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่เคยเป็นฐานของธุรกิจให้กับบริษัทน้อยใหญ่นั้นพลิกไปแล้ว การที่ธุรกิจเหล่านั้นจะบอกว่า “ขอเวลา” จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเพราะอีกฝ่ายไม่ได้คิดจะรอ

ตัวอย่างที่ผมมักยกง่ายๆ คือตอนนี้คนจำนวนมากหันมาดูคอนเทนต์บนโลกออนไลน์โดยไม่แยแสกับรายการทีวีต่างๆ แล้ว พวกเขาสนุกกับการเล่น Facebook และดู YouTube กันในขณะที่เหล่าช่องทีวีก็กำลังกุมขมับกับเรตติ้งที่ลดลง การวนแก้ปัญหากับการพยายามคิดรูปแบบรายการทีวีในแบบที่เรียกว่า “เอาใจตลาด” ไม่ได้ผลอย่างที่คิด พอถึงจุดนี้ จะเห็นว่าผู้บริโภคเขาปรับพฤติกรรมไปสู่จุดที่ไม่แคร์ช่องโทรทัศน์แล้ว กว่าที่ผู้จัดต่างๆ จะขอเวลาปรับผัง ขอเวลาปรับตัว ปรับองค์กร มันก็แทบจะไม่ทันกันแล้ว

ผมเคยพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลนี้หลายปีก่อนว่ามันเป็นในลักษณะของ “เทรนด์” ที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว แต่ ณ วันนี้ผมคงไม่ใช้คำว่าเทรนด์อีกต่อไปเพราะว่าการกลับขั้วอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้นไปแล้ว ประชากรไทยมากกว่าครึ่งประเทศมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและยังเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ (และแน่นอนว่าก็คงจะไม่ถอยหลังกลับ)

“การขอเวลาปรับตัว” อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารมักจะบอกกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในตำราไหนๆ มาก่อน แต่เราคงต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่าเวลาที่เหลือให้ปรับตัวนั้นน้อยมาก การปรับตัวต้องเริ่มตั้งแต่หลายปีก่อนแล้ว การมาเริ่มนับหนึ่งแต่วันนี้นั้นเต็มไปด้วยปัญหามากมายเพราะนอกจากจะต้องเรียนรู้ใหม่แล้วก็ต้องอุดปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นไปด้วย

แต่ไหนๆ มันก็มาถึงวันนี้แล้ว มันคงไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงอดีต เหล่าผู้บริหารในวันนี้คงต้องรับบทบาทสำคัญในการ “นำการเปลี่ยนแปลง” ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะมา “รอเวลา”​ อีกไม่ได้แล้ว

เพราะเราก็ต้องไม่ลืมว่ากว่าเราจะเรียนรู้และปรับตัวได้ตามที่ “ขอเวลา” มา ถึงตอนนั้นผู้บริโภคและตลาดมันก็เปลี่ยนแปลงไปอีกเท่าไรแล้ว และถึงตอนนั้นเราก็คงวิ่งตามไม่ทันแล้ว

สำหรับผมแล้ว ปี 2017 และหลังจากนี้นั้น เราจะเห็นการเขย่าครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมต่างๆ และจะกลายเป็นบทพิสูจน์ขนานใหญ่ของเหล่าผู้บริหารต่างๆ ว่าจะ “เอาอยู่” หรือไม่

และไม่ช้าเราก็จะเห็นผลลัพธ์กันล่ะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page