ข้อควรคิดเพื่อที่จะใช้ Influencer/ Blogger ให้ถูกคน
ช่วงหลังๆ เรามักเห็นการตลาดออนไลน์ที่มีเหล่าบรรดา Online Influencer / Blogger เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็คงเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายๆ คนเริ่มคิดกันว่าทุกวันนี้เหล่า Online Influencer / Blogger มีคนติดตามมากขึ้น ก็คงจะดีไม่น้อยที่พวกเขาเหล่านั้นจะกลายมาเป็นกระบอกเสียงให้กับเรา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักการตลาดควรพึงพิจารณาไว้ด้วยอย่างหนึ่งของการใช้ Online Influencer / Blogger เหล่านี้คือการดู “คุณภาพ” ของพวกเขา มากกว่าจะสนใจเรื่องตัวเลขของผู้ติดตามที่มักกลายเป็นสิ่งที่เอามาเคลมเพื่ออัพราคาค่าตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผมบอกเช่นนี้เพราะนับวันเราจะเจอคนที่อ้างว่าเป็น Online Influencer / Blogger มากขึ้นเรื่อยๆ และหลายๆ ครั้งเราอาจจะเจอข้อเท็จจริงน่าประหลาดเมื่อลงไปดูรายละเอียดเช่น
บางคนที่อ้างว่าเป็น “Blogger” นั้นกลับแทบไม่มีคนอ่านบล็อกที่เขียน
บางคนมีคนตามเยอะมากบน Twitter แต่กลับไม่มีใครอ่านบล็อกที่เขียน
บางคนมีคน Facebook Like เยอะมากแต่กลับไม่มีใครปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์ที่โพสต์
ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ นักการตลาดที่คิดจะใช้ Online Influencer / Blogger ก็ควรจะทำการบ้านดีๆ ว่าเหล่าคนที่ตัวเองจะดึงมาให้ร่วมในแคมเปญต่างๆ นั้นเป็น “ตัวจริง” หรือ “ตัวปลอม” รวมไปถึงกลุ่มที่ “เคยจริง” อีกด้วย (ไว้ผมจะเขียนบล็อกเล่าเรื่องนี้อีกทีนะฮะ)
ทีนี้เราลองมาดูกันว่าเราควรจะพิจารณาข้อมูลอะไรบ้างของ Online Influencer / Blogger ซึ่งผมลองสรุปออกมาเป็นหัวข้อตามนี้นะครับ
ชื่อของคนๆ นั้น
ช่องทางออนไลน์แต่ละช่องทาง
จำนวนคนที่ติดตามในแต่ละช่องทาง
เนื้อหาที่คนๆ นั้นเป็นที่ยอมรับ / รู้จัก
ประสิทธิภาพของคอนเทนต์ในหมวดนั้นๆ
แนวโน้มความน่าเชื่อถือ (พูดไปแล้วมีคนเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีใครสนใจ?)
แนวโน้มความครอบคลุม (พูดไปแล้วมีคนเห็นมากแค่ไหน อย่าดูแค่จำนวน Follower เฉยๆ)
ประวัติการทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์อื่นๆ
ภาพลักษณ์ (ชื่อเสียง / ชื่อเสีย)
ความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ / บริการของเรา
10 ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่ผมว่าคนทำการตลาดควรจะใช้พิจารณาบรรดาคนที่จะเลือกมาใช้ทำแคมเปญ จะเห็นว่าผมไม่ได้สนใจแค่เรื่องของ Network Size อย่างเดียว แต่เราต้องสนใจคุณภาพของ Network ที่แต่ละคนมี รวมทั้ง Network นั้นจะสอดคล้องกับแคมเปญ / สินค้าของเราหรือไม่
ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะ Influencer ต่างๆ นั้นมีกุญแจสำคัญคือเรื่องของ “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งไม่ใช่ว่าคนที่มีเครือข่ายเยอะๆ แล้วพูดอะไรคนก็เชื่อ ในทางกลับกัน หากพวกเขาพูดในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้มีความชำนาญ มันก็จะกลายเป็นการแถเพื่อใช้กระบอกเสียงของพวกเขาซึ่งบรรดาคนตามก็ไม่ได้โง่หรอกนะครับ และพอเป็นอย่างนั้นความน่าเชื่อถือของสารที่คุณคิดว่าคนเหล่านี้จะโน้นน้าวคนให้เชื่อได้จะกลับกลายเป็นย้อนศรทำร้ายคุณไปเสียแทน
นั่นยังไม่ได้พูดถึงกันเลยว่าคนเหล่านี้เป็น “Influencer” กันจริงๆ หรือเปล่านะครับ ซึ่งผมคงเอามาคุยกันต่อในบล็อกถัดๆ ไปแล้วกันนะครับ
คำเตือน
การใช้ Influencer / Blogger ไม่ได้แปลว่าคุณจะประสบความสำเร็จเสมอไป
เช่นเดียวกับความคุ้มค่าที่หลายๆ ครั้งคุณซื้อโฆษณาหรือทำ Advertorial ยังคุ้มกว่า
การใช้ Influencer / Blogger ที่มี “ชื่อเสีย” อาจจะทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณลดลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ
หมายเหตุ
การ “จ้าง” บล็อกเกอร์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเราควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับความโปร่งใสในการทำการตลาด ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมด้วย
ภาพประกอบดาว์นโหลดอย่างถูกต้องจาก Hubspot
Comments