ข้อควรตระหนักในการทำ Video Content บน Facebook
กระแสการทำ Video Content บน Facebook เริ่มเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีในการทำ Video วันนี้นั้นไม่ได้ยากแบบสมัยก่อน เช่นเดียวกับที่การดูคอนเทนต์แบบ Video ก็สะดวกรวดเร็วกว่าที่ผ่านมาเยอะ และแน่นอนว่า Facebook ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่คนพยายามเอา Video Content มาเผยแพร่เพราะมันคือช่องทางที่คนจำนวนมากใช้งานในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้งาน Video Content ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น สิ่งที่คนทำคอนเทนต์ควรจะเข้าใจกันเสียหน่อย นั่นก็คือการใช้งาน Video บน Facebook นั้นมี “เอกลักษณ์” อยู่พอสมควร และควรตระหนักเรื่องนี้ให้ดีก่อนที่จะเริ่มทำคอนเทนต์กัน
1. การดูวีดีโอจำนวนมากบน Facebook เป็นการดูแบบ “ปิดเสียง”
เราต้องยอมรับกันว่าพฤติกรรมการใช้งาน Facebook นั้นต่างจากการใช้งาน YouTube และการดูวีดีโอจำนวนมากนั้นเกิดขึ้นจากการ Auto Play บนหน้า News Feed เช่นเดียวกับคนจำนวนมากก็ไม่ได้สะดวกในการดู Video แบบที่ได้ยินเสียง ณ เวลานั้น
นั่นจึงไม่แปลกที่ถ้าเราไปดูสถิติยอด View ของ Facebook Video ในหลายๆ คลิปนั้นจะพบว่าเป็นการเล่นแบบ “ปิดเสียง” ซึ่งนั่นอาจจะทำให้การเสพคอนเทนต์และได้รับข้อมูลต่างๆ คลาดเคลื่อนกับความจริงกันได้ง่ายๆ
ด้วยเหตุนี้ คุณจะเห็นว่าหลายๆ เพจเองเริ่มมีการปรับตัวที่จะใส่ตัว Subtitle หรือการขึ้นกราฟฟิคต่างๆ ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ของ Video เพื่อให้คนดูสามารถเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้โดยแม้ว่าจะปิดเสียงอยู่ก็ตาม
2. Video Content บน Facebook ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็น 16:9
ถ้าพูดถึงขนาดของ Video ที่เราเห็นอยู่เรื่อยๆ นั้น เราก็มักจะเห็นในลักษณะของ 16:9 ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับหน้าจอทีวีและหน้าจอการดูบน YouTube
อย่างไรก็ตาม Facebook ไม่ได้จำกัดการทำ Video ว่าจะต้องอยู่ในสัดส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด เราสามารถทำ Video ในขนาด 1:1 (รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส) หรือจะเป็น 9:16 ก็ได้ เช่นกัน และนั่นคือการใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนหน้า News Feed เพราะเราก็ต้องรู้ว่าคนเล่น Facebook นั้นมักเล่นบนมือถือ และเป็นการเล่นโดยที่มือถืออยู่ในแนวตั้ง ไม่ใช่แนวขวางนั่นแหละครับ
3. คนเจอ Video บน Facebook แบบ “ไม่ได้ตั้งใจ”
ถ้าเรามองการเห็น Video บน YouTube นั้นจะเห็นได้ว่าส่วนมากเป็นการ “ตั้งใจ” ที่จะหาและดูวีดีโอดังกล่าว แต่ Facebook นั้นเราจะเจอ Video ต่างๆ จากการเลื่อนหน้า News Feed ไปเรื่อยๆ (หรือที่เรามักเรียกว่า Content Browsing) ซึ่งนั่นทำให้ “ความตั้งใจ” ในการเห็น Video Content นั้นต่างๆ กัน
และนั่นทำให้คนทำคอนเทนต์บน Facebook ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะใช้ช่วงเวลาไม่กี่วินาทีที่คน “บังเอิญมาเจอ” นั้นจะสามารถทำให้เขา “หยุดดู” และ “ดูต่อ” ได้อย่างไร ซึ่งนั่นจะเห็นว่าต่างจากกรณีการทำ Video Content แบบทั่วๆ ไปอยู่พอสมควร
ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะเจอว่า Video Content บน Facebook ของหลายๆ แบรนด์นั้นจะมีการ “เรียบเรียง” และ “เล่าเรื่อง” ที่ต่างไปจาก Video Content แบบเดิมๆ เพื่อให้มันดึงดูดกับคนดูมากขึ้นนั่นเอง
ที่หยิบยกมาในบล็อกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ลักษณะเฉพาะ” ของ Video Content บน Facebook ที่คนทำคอนเทนต์วันนี้ต้องเข้าใจและประยุกต์ใช้มากขึ้นโดยไม่ใช่แค่การเอา Video ที่เคยมีอยู่มาโพสต์ลงไปทื่อๆ เพราะมันอาจจะ “ไม่เวิร์ค” เลยนั่นแหละครับ
Commentaires