ข้อพึงระวัง หากจะทำตัวเป็น "เป็ด" Generalist
วันก่อนผมมีการคุยกับเพื่อนถึงเทรนด์และแนวคิดการพัฒนาตัวเองที่สมัยนี้ฮิตมากขึ้น คือการพัฒนาตัวเองแบบ Generalist หรือที่บางคนอาจจะเรียกว่า "เป็ด" กล่าวคือการมีความรู้หลากหลายด้านแทนที่จะชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง
ถ้ามองกันในแง่ของข้อดี มันก็มีโอกาสจะเป็นคุณกับผู้ที่เป็น Generalist ได้เช่นมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน มีความยืดหยุ่นสูงพร้อมปรับตัว หรือมองเห็นภาพรวมต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีเรื่องต้องระวังเอาด้วยเหมือนกัน ซึ่งผมลองสรุปเป็นประเด็นจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาและข้อมูลจากบทความที่เคยอ่านนะครับ
1. การหลงทางในความรู้ที่มากมาย
พอเราพูดว่า "ความรู้ที่หลากหลาย" มันก็ต้องบอกว่ามีเรื่องให้อยากรู้เต็มไปหมด เอาตั้งแต่เรื่องการทำครัว งานช่าง งานไอที สายจิตวิทยา บัญชี การเงิน การตลาด ฯลฯ เรียกว่าแตะอะไรก็เป็นความรู้ไปหมด ตรงนี้เองที่อาจจะทำให้บางคนหลงไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน แน่นอนว่าหากมาองในมุมหนึ่งก็อาจจะคิดว่า "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม" แต่ในความจริงแล้วการ "แบกหาม" ย่อมมีต้นทุนเสมอ ซึ่งหลายคนอาจจะมาพบทีหลังว่าสิ่งที่แบกไปนั้น หากขาดการวางแผนที่ดีก็อาจจะไม่คุ้มกับที่แบกมาก็ได้
2. กับดักของการไม่รู้ลึก
การเรียนรู้แบบ "รู้ไปเยอะ ๆ" แต่ "ไม่รู้ลึก" เป็นสิ่งที่มักจะเจอกับหลายคนที่พยายามทำตัวเป็น Generalisit (หรือคิดว่าตัวเองเป็น) ซึ่งถ้าเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้รู้ลึกรู้จริงก็อาจจะโอเคอยู่ แต่ที่จะเกิดปัญหาคือการทึกทักว่าที่รู้นั้นเพียงพอแล้ว เข้าใจแล้ว และนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ หรือปัญหาแบบผิด ๆ เช่นอ่านหนังสือเล่มหนึ่งในด้านการตลาดแล้วก็บอกว่ารู้ทะลุปรุโปร่งของการตลาดแล้ว หรืออ่านหนังสือการเป็นผู้นำเล่มนึงก็บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญด้าน Leadership แล้ว
3. รู้กระจายแต่ตื้นเกินไป
ในอีกมุมหนึ่ง การกระจายแขนงความรู้ที่ตัวเองไปเยอะอาจจะดูเป็นเรื่องดี แต่หากแขนงที่กระจายออกมาไปไม่ได้มีความลึกที่มากเพียงพอก็ไม่สามารถจะนำไปสู่การใช้งานจริง ไปสู่การทำให้เกิดเป็นความสามารถในการทำงานได้ เช่นแม้ว่าเราจะรู้ด้านการตลาดมาระดับหนึ่ง แต่เป็นความรู้ระดับผิว ๆ ชนิดที่คนทั่วไปก็รู้ ไม่ได้อยู่ในระดับที่จะเพียงพอเพื่อนำไปทำงานต่อได้ ความรู้นั้นก็อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพได้
4. ความท้าทายในการสร้างตัวตน
คำถามที่ผมมักจะถามผู้สมัครหลายคนคือ "ตัวเองเก่งอะไร" แล้วพอมีคนตอบว่า "ผมเก่งหลายเรื่อง" หรือ "ผมเป็น Generalist" นั้น เป็นคำตอบที่มักนำไปสู่ความไม่ชัดเจนจริง ๆ ว่าคนนั้นทำงานอย่างไร ถนัดอะไร ซึ่งในการสัมภาษณ์งานหลายครั้งนั้นเราคาดหวังจะเห็น "จุดขาย" ในตัวผู้สมัครที่เราสามารถบอกได้ว่าเขาเหมาะกับตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือบทบาทความรับผิดชอบนั้นหรือไม่ พอผู้สมัครบอกกลาง ๆ และไม่สามารถอธิบายตัวตนให้ชัดเจนก็กลายเป็นเสียโอกาสตรงนี้ไปได้
ที่กล่าวมา ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการเป็น Generalist แต่ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเป็น Generalist ไม่ได้หมายถึงการรู้ทุกเรื่องอย่างผิวเผิน แต่คือการมีความรู้ที่หลากหลายในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับความสามารถในการเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น การตระหนักถึงข้อควรระวังต่างๆ จะช่วยให้การพัฒนาตนเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่หลายคนต้องการคือการประสบความสำเร็จในอาชีพการงานนั่นเอง หากเลือกทางจะเป็น Generalist ก็ต้องรู้จุดต้องระวังและหาวิธีรับมือกับมันให้ดีนั่นเองล่ะครับ
Comments