ข้อมูลของบุคคลในองค์กรที่ควรถูกนำมาวิเคราะห์
ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น การทำ Data Analytics เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเยอะว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวองค์กรได้ เช่นการนำข้อมูลด้านการขาย การทำการตลาดมาใช้วิเคราะห์เพื่อจะสามารถออกแบบกลยุทธ์ที่ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลนั้นไม่ใช่แค่การวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้กิจกรรมภายนอกองค์กรอย่างเช่นการทำการตลาด การลงโฆษณาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังสามารถนำมาใช้ภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วย อย่างในบทความ Better People Analytics ของ Havard Business Review ฉบับ 96 ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจมากกว่าองค์กรเองก็ควรจะทำการเก็บข้อมูลพนักงานของตัวเองเพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อยอดได้มากขึ้น
ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือการที่องค์กรต่างๆ นั้นต้องบริหารบุคคล บริหารทีมต่างๆ ซึ่งผู้บริหารเองก็อยากจะมั่นใจว่าพนักงานหรือทีมที่ตัวเองมีนั้นเป็นอย่างไร เป็นทีมงานที่เหมาะกับการทำงานนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งทางผู้เขียนบทความนั้นก็ได้สรุปถึง 6 มุมมองที่ควรจะวิเคราะห์ไว้ดังนี้
1. Ideation
เป็นการวิเคราะห์เชิงบุคคลโดยพยายามดูว่าพนักงานคนไหนที่มักจะเป็นคนที่คิดไอเดียใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้มักจะสำคัญมากในกรณีที่องค์กรต้องการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ต่างไปจากเดิม
2. Influence
เป็นการวิเคราะห์ในดรับบุคคลโดยพยายามดูว่าพนักงานคนไหนมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างอิทธิพลหรือทำให้คนอื่นๆ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แน่นอนว่าคุณสมบัติข้อนี้ย่อมหมายความว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพในการโน้มน้าวผู้อื่น สามารถนำพฤติกรรมต่างๆ ได้
3. Efficiency
เป็นวิเคราะห์ในระดับทีม (หรือกลุ่มคน) โดยดูว่าทีมไหนสามารถทำงานได้เสร็จตามที่มอบหมายไว้ตรงต่อเวลา การวิเคราะห์ในมิตินี้นั้นจะช่วยให้เห็นว่าทีมไหนมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงและมีโอกาสที่จะสามารถมอบหมายงานต่างๆ ได้สำเร็จ
4. Innovation
เป็นการวิเคราะห์ในระดับทีมเพื่อดูศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การมองมิตินี้จะไม่ใช่แค่การดูเรื่องไอเดีย หรือการมีความคิดสร้างสรรค์ หากแต่ดูว่าไอเดียที่ว่านั้นนำไปพัฒนาหรือทำต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม แน่นอนว่านั่นทำให้คนทำงานที่ว่านี้ต้องมีทักษะในการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะต่างจากทักษะในการบริหารงานแบบปรกติด้วย
5. Silos
เป็นการวิเคราะห์ในระดับองค์กรเพื่อดูว่าโครงสร้างขององค์กรนั้นมีลักษณะเป็น Silo หรือไม่ (กล่าวคือแยกขาดจากกัน แต่ละทีมไม่ยุ่งหรือข้อเกี่ยวกัน) ซึ่งเราก็คงจะพอรู้กันว่าถ้าองค์กรเป็นลักษณะ Silo นั้นจะค่อนข้างมีปัญหาและทำให้เกิดการพัฒนาอะไรได้ค่อนข้างยาก
6. Vulnerability
เป็นการวิเคราะห์ในระดับองค์กรอีกเช่นกันโดยดูว่ามีพนักงานคนไหน (หรือทีมไหน) ที่บริษัทไม่สามารถขาดได้ชนิดที่เรียกว่าจำเป็นกับบริษัทมากๆ ทั้งนี้เมื่อมองเรื่องของการ “ขาดไม่ได้” นั้นก็ต้องดูกันในบริบทไปเช่นบางแผนกนั้น คนที่ขาดไม่ได้คือเป็นมันสมองสำคัญของทีมในการคิดไอเดียสำคัญๆ แต่บางทีมอาจจะขาดไม่ได้เพราะเป็นคนที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างแผนกต่างๆ เป็นต้น ฉะนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องวิเคราะห์เรื่องนี้ให้รอบคอบด้วย
อันที่จริงตัวบทความนี้ยังพูดอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ แต่ 6 เรื่องของการวิเคราะห์ “คน” เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะแม้จะไม่ต้องพูดถึงการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูง มันก็สามารถเอามาใช้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ของบุคลากรในองค์กรได้ดีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ก็ลองเอามิติ 6 อย่างนี้ไปลองวิเคราะห์ดูกับองค์กรของตัวเองนะครับ ว่าใครเป็นอย่างไร ใครสำคัญมากน้อยขนาดไหน เพื่อที่หากคุณเป็นผู้บริหารก็จะได้รู้ว่าต้องบริหารคนอย่างไรต่อไปนั่นเองล่ะครับ
Comentários