ข้อมูลพื้นฐานของการทำ Content Management ที่ควรมี
จากบล็อกที่แล้วที่พูดถึงเรื่องการทำ Content Calendar ไปบ้างแล้วนั้น ก็จะเห็นว่าถ้ามองในระดับรายละเอียดแล้วก็จะสามารถเชื่อมโยงไปเรื่องการทำ Content Management ได้ด้วย ซึ่งพอเป็นเช่นนี้แล้ว บางคนก็อาจจะถามว่า Content Management นั้นเราต้องรู้อะไรกันบ้าง มี Checklist อะไรที่เราต้องทราบบ้าง
หากว่ากันจริงแล้วๆ ตัว Content Management นั้นก็มีประเด็นมากมายที่เราควรรู้หรือระบุออกมาเป็นแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราจะต้องการความละเอียดขนาดไหนและนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ข้อมูลพื้นฐานที่คนทำ Content Management มักจะตอบกันโดยเบื้องต้นก่อนซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นหลักให้คนทำคอนเทนต์ได้มีไว้เพื่อตอบตัวเองกันหน่อยซึ่งก็มีหัวข้อต่างๆ ดังนี้ครับ
1. Content Category
เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อมูลอย่างแรกๆ ที่เวลาเราทำ Content Strategy จะมีกัน คือการแบ่งประเภทคอนเทนต์เป็นหมวดหมู่ต่างๆ โดยบางคนก็อาจจะมีคอนเทนต์หลายหมวด บางคนก็อาจจะสรุปให้ง่ายๆ เหลือไม่กี่หมวดเช่น General Content / Product Content / Value Content เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ว่าตัว Content Strategy ที่เราสร้างมานั้นใช้หลักอะไรในการสร้างคอนเทนต์กันมานั่นเอง
2. Content Format
ถัดมาคือการอธิบายว่าตัวคอนเทนต์นั้นๆ จะถูกนำเสนอในรูปแบบไหน เช่นจะเป็นภาพ จะเป็นวีดีโอ บทความ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้เองจะสัมพันธ์กับตัวช่องทางการเผยแพร่ด้วยนั่นเอง
3. Content Channel
อย่างที่ได้บอกไป คือการทำคอนเทนต์นั้นก็ต้องรู้ด้วยว่าช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์นั้นใช้ช่องทางไหนบ้าง ช่องทางไหนเป็นช่องทางหลัก ช่องทางไหนเป็นช่องทางรอง เช่นเป็น Auto-Share / Lead Traffic ก็ว่ากันไป
4. Content Production Team & Resource
เมื่อเราพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่าคอนเทนต์จะเป็นเรื่องอะไร หน้าตาประมาณไหน สิ่งต่อมาคือการระบุว่าการทำงานที่ว่านี้มีใครมาเกี่ยวข้อง คอนเทนต์ในกลุ่มนี้มีใครเข้ามาดูแลเรื่องการผลิต ใครเป็นทีมทำกราฟฟิคหรือวีดีโอ เพราะในบางบริษัทนั้นอาจจะมีทีมทำคอนเทนต์หลายคน ซึ่งก็มีการแบ่งชิ้นงานกับทำ ก็ต้องระบุกันให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อีกทั้งจะทำให้คนที่ควบคุมดูแลสามารถเป็นภาพรวมของการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องมีเพื่อให้เกิดคอนเทนต์นั้นๆ ด้วย
5. Content Production Lead Time
เรื่องที่ต่อเนื่องจากการพูดเรื่องทีมงานที่ทำ ก็คือคอนเทนต์แต่ละชิ้น แต่ละไอเดียนั้นจะมี Timeline อย่างไร กำหนดการบรีฟเมื่อไร ร่างไอเดียวันไหน Approve วันไหน เพื่อจะสามารถได้มาจัดลำดับได้ถูกว่าเราจะมีคอนเทนต์ที่ผลิตและเผยแพร่ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ไหม
6. Publishing Management
นอกจากเรื่องการผลิตแล้ว การจัดการเรื่องการโพสต์ก็ยังสำคัญไปด้วย เช่นการระบุว่าจะโพสต์เวลาไหน โพสต์ด้วยความถี่อย่างไร หรือแม้กระทั่งการระบุด้วยว่าคนที่ทำการโพสต์นั้นจะเป็นใคร (ในกรณีมีหลายแอดมินดูแล)
7. KPI & Target
เมื่อมีการทำงานและเราต้องบริหารจัดการนั้น สิ่งที่เราต้องรู้ควบคู่ไปด้วยคือเราจะวัดผลมันอย่างไร จะเน้นเรื่องการเกิด Awareness, Message Recieved, Engagement, Conversion หรืออะไร และตัววัดไหนที่จะเอามาใช้เพื่อบอกได้ว่าคอนเทนต์นั้นๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร นอกจากนี้ก็อาจจะมีการกำหนด “เป้า” พื้นฐานไว้ให้กับตัวคอนเทนต์ด้วยเพื่อใช้สำหรับการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ว่าตอนนี้ได้ตามเป้าหรือต่ำกว่าเป้าเป็นต้น
จะเห็นว่าสิ่งที่ลิสต์มาในบล็อกนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จริงๆ เราอาจจะพอรู้กันบ้างแล้ว และใช้ในชีวิตประจำวันเพียงแต่อาจจะไม่มีการระบุออกมาให้ชัดเจน หรือมีการจัดทำเอกสาร (Documentation) ซึ่งผมคิดว่าถ้าคุณทำงานกันเป็นทีมในองค์กรต่างๆ ก็ควรจะใช้เวลาทำสรุปเรื่องเหล่านี้เสียหน่อย เพราะอย่างน้อยๆ ก็ทำให้การทำคอนเทนต์ของคุณมีหลักการมากขึ้น ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับถ้ามีทีมงานคนอื่นเข้ามาในภายหลังก็สามารถต่อติดได้จากการดูเอกสาร Content Management นี่แหละครับ
Comments