คน 3 ประเภทกับทักษะ Strategic Thinking
วันนี้ผมมีบรรยายคลาส Growth Strategy ให้กับพนักงานบริษัทหนึ่ง ซึ่งระหว่างการบรรยายนั้นก็จะมาหยิบยกเคสต่าง ๆ มาถกกันว่าการที่เกิดดีลนี้นั้นเป็นมาอย่างไร เขาคิดอะไร วางกลยุทธ์อย่างไร มีแคมเปญนี้เกิดขึ้นนั้นเพราะอะไร ฯลฯ
แล้วมันก็เลยทำให้ผมพูดถึงประเด็นคน 3 ประเภทที่เรามักจะจำแนกกันเพื่อใช้สกรีนว่าใครน่าจะเอามาทำงานด้านกลยุทธ์หรือมีแววว่าเหมาะจะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร กำหนดแนวทางของธุรกิจ (หรือในอีกมุมหนึ่งคือจะเป็นคนที่มีแววทำธุรกิจรุ่งนั่นแหละ)
คนสามประเภทที่ว่านี้อธิบายแบบง่าย ๆ คือเมื่อเกิดเคส มีข่าวความเคลื่อนไหวของธุรกิจ เปิดตัวสินค้า ออกข่าวพีอาร์ ฯลฯ เรามีปฏิกริยาอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ เราคิดอย่างไรกับมัน ซึ่งที่ผมมักจะเจอบ่อย ๆ ก็จะมีคน 3 ประเภทด้วยกัน
👍 คนที่สนับสนุนไอเดีย / แคมเปญดังกล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่ามันดีอย่างไร เวิร์คตรงไหน จะนำไปสู่อะไร
👎 คนที่ไม่เห็นด้วยกับไอเดีย / แคมเปญ โดยบอกว่ามันไม่เข้าท่าอย่างไร สงสัยว่ามันทำไปทำไม ตั้งแง่และไม่คล้อยตามกับสิ่งที่เกิดขึ้น
😐 คนที่ไม่สนใจ รู้แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้คิดอะไร ปล่อยผ่านเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ผมพูดกับคนในคลาสว่าถ้าเราจะมองหาคนมาทำงานกลยุทธ์นั้น เรามักจะดูคนสองประเภทแรกก่อน ในขณะคนกลุ่มที่ 3 เราจะปล่อยผ่านไปเหมือนกับที่เขาปล่อยผ่านกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นกัน
ที่บอกอย่างนี้เพราะเมื่อเราอยู่ในกระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์นั้น เราจะต้องคิดถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของสถานการณ์ ไม่ว่าจะสาเหตุที่นำมาซึ่งเหตุการณ์นั้น ๆ และผลที่จะตามมา เราจะคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุต่าง ๆ อันนำมาซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน และคิดถึงผลที่เกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินใจทำอะไรบางอย่างไป
มันเหมือนกับการที่เรากำลังเล่นเกมหมากรุก โกะ หรือบอร์ดเกมอื่น ๆ ที่พอเห็นคู่แข่งเดินหมากแบบนี้แล้วก็ต้องคิดต่อว่าเขาจะเดินต่ออย่างไร หมากจะไปอย่างไร แล้วเราจะรับมือ แก้เกม หรือสวนกลับอย่างไร ไม่ใช่การที่เราเดินหมากของเราไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจคู่แข่ง คู่แข่งทำอะไรก็ปล่อยผ่านไม่ได้สนใจอะไรเลย
ในชีวิตจริงของการทำธุรกิจและการตลาดนั้น เราไม่ได้แข่งกับตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องแข่งกับคนอื่น ๆ รวมทั้งรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่คนอื่น ๆ ได้ทำอะไรบางอย่างไป และการที่จะรับมือได้ทันสถานการณ์ ช่วงชิงความได้เปรียบแล้ว เราก็ต้องมีการ “ลับคมความคิด” อยู่เสมอ เสมือนกับการออกกำลังกายสมองว่าเขาคิดอะไร ทำอะไร
จะผิดจะถูกก็เรื่องหนึ่ง จะคิดตื้นคิดลึกก็เรื่องหนึ่ง แต่มันต้องเริ่มที่จะต้องคิด ฝึกให้เราสนุกกับการตั้งคำถามและไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งต่าง ๆ
และนั่นเลยเป็นที่มาว่าเราจึงไม่ค่อยสนใจกับคนประเภทที่พอถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วบอกว่าไม่ได้สนใจ ไม่พยายามคิดหรือใคร่รู้ว่ามันมาอย่างไร
ผมเล่าเรื่องนี้ให้น้อง ๆ ที่อยู่ในคลาสเพื่อหวังว่าจะทำให้เขาฉุกคิดขึ้นได้บ้างว่าหากเขาจะโตขึ้นในสายงานธุรกิจแล้วนั้น การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญและมันเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่ความรู้ที่ท่องจำแล้วจะมาบอกใน Resume มาเรามีทักษะนี้
แล้วผมก็เลยเอามาแบ่งปันต่อในโพสต์นี้แหละครับ
Comments