“คนละเอียด” เป็นคนละเรื่องกับ “คนชอบจับผิด”
วันก่อนผมพูดถึงเรื่องการทำลายคนทำงานด้วยกันโดยใช้วิธีสร้างความกลัว ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่บางคนเป็นและสร้างความระอาให้คนรอบข้างอยู่หลายๆ ครั้ง นั่นก็คือการคอยจับผิดในงานที่คนอื่นทำ
ถ้าถามว่าการจับผิดเป็นปัญหาอย่าง ก็อาจจะเพราะการจับผิดทำให้หลายๆ คนรู้สึกเครียดและกดดันจนอาจจะไม่อยากทำงานเพราะกลัวว่าทำไปก็จะต้องมาลุ้นว่าจะถูกต่อว่าอีกหรือไม่ (ซึ่งน้อยครั้งที่จะไม่เจอ) การทำงานด้วยความกลัวนี่เองที่ทำให้คนทำงานไม่รู้สึก Comfort ที่จะทำงาน
จะว่าไปแล้ว หลายๆ คนอาจจะบอกว่าไม่ได้เป็นการจับผิด แต่เป็นการแสดงถึงความเป็น “คนลงรายละเอียด” ต่างหาก
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ?
ถ้าเรามองโดยเจตนาแล้ว การเป็นคนละเอียดคือการเป็นคนที่มองเห็นเนื้องานแบบละเอียด รวมทั้งการให้ความสำคัญแม้กับจุดเล็กๆ น้อยๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่องานที่จะเสร็จ ซึ่งนั่นก็มีส่วนจริงอยู่พอสมควรเพราะกับงานหลายๆ ชิ้นนั้น รายละเอียดเล็กน้อยก็อาจจะสร้างความผิดพลาดได้อย่างเช่นการเขียนโปรแกรม งานก่อสร้าง ฯลฯ
แต่การจับผิดนั้น เกิดขึ้นจากเจตนาที่แตกต่างแม้ว่าการกระทำอาจจะคล้ายๆ กัน การจับผิดในหลายๆ ครั้งเกิดจากการพยายามจ้องหาจุดผิดพลาดไม่ได้เพื่อจะให้งานดีขึ้น แต่หากต้องการหาเรื่องโจมตีหรือชี้ความผิดของอีกฝ่ายเสียมากกว่า นอกจากนี้แล้วผู้จับผิดบางคนก็อาจจะรู้สึกภูมิใจขึ้นที่สามารถหาความผิดของอีกฝ่ายได้ อาจเป็นการสนองอารมณ์ในฐานะของผู้ตรวจสอบ หรือไม่ก็ยกตัวเองสูงกว่าอีกฝ่าย
ถ้าการจับผิดด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวก็คงจะไม่ดีเป็นแน่
ในฐานะนักวิจารณ์เอง หลายๆ ครั้งก็มีคนครหากับบทบาทนักวิจารณ์ว่าเป็นผู้จับผิด คอยจับผิดงานที่คนอื่นสร้างเพื่อที่จะยกตัวเองให้ดูทรงภูมิและมีความรู้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านักวิจารณ์คนรีวิวหรือบรรดาบล็อกเกอร์บางคนก็มีลักษณะเช่นนั้นจริง คือพยายามขุดหาข้อเสียออกมาพูดให้ได้ แต่กับนักวิจารณ์ที่เป็นมืออาชีพและมีจรรยาบรรณแล้วด้วยนั้น การติต่างๆ ไม่ได้เป็นการ “จับผิด” หากแต่เป็นการมองในรายละเอียดและชี้ปัญหาต่างๆ ที่งานชิ้นนั้นมีในสายตาของผู้วิจารณ์ต่างหาก
จะว่าไปแล้ว เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการจับผิดและการเป็นคนละเอียดนั้นก็ยากจะตัดสินอยู่ไม่น้อย สิ่งที่อาจจะทำให้การกระทำของคนหนึ่งคนเบี่ยงไปทางใดทางหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเรื่องการของแสดงออกหลังจากที่ได้พบความผิดพลาดเสียมากกว่า เพราะก็ต้องยอมรับว่ามีหลายคนที่แสดงอาการหยิ่งทะนง เยาะเย้ย หรือเหยียบย่ำอีกฝ่ายเมื่อพบข้อผิดพลาด ซึ่งจึงไม่แปลกที่อีกฝ่ายจะรู้สึกโกรธแค้นและระอากับพฤติกรรมดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกับถ้าฝ่ายที่พบความผิดพลาดนำมันมาพูดคุยแบบดีๆ ช่วยกันทำงาน และเชิญชวนให้อีกฝ่ายร่วมกันแก้ไขแล้ว ก็ย่อมทำให้คนรอบข้างและคนที่ทำงานด้วยรู้สึกว่าคนๆ นั้นเป็นคนละเอียดและน่าชื่นชมแทน
อ่านมาถึงตรงนี้ ลองมาไปรอบๆ ตัวคุณดูไหมล่ะครับว่าคนที่คุณมีปัญหาด้วยนั้น เขาเป็นพวกประเภท“ลงรายละเอียด” หรือ “จ้องจับผิด” กันแน่
หรือถ้าคุณพบว่าตัวเองเป็นตามลักษณะนี้ ลองถามตัวเองไหมว่าอยากให้คนอื่นมองว่าขี้จับผิดหรือชื่นชมที่เป็นคนละเอียด เพราะสิ่งที่คุณทำอยู่อาจจะให้ผลตรงกันข้ามก็เป็นไปได้นะครับ
Kommentare