ควรรู้อะไรบ้างกับ Content Personality
เรื่องของการทำคอนเทนต์นั้น นอกจากการพิจารณา “เรื่องที่เล่า” แล้วก็ยังต้องคิดถึงเรื่อง “วิธีการเล่า” ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์หรือเพจที่ต้องการสร้างภาพจำหรือตัวแบรนด์ของตัวเองที่ชัดเจน
ที่บอกอย่างนี้เพราะการจะสร้างภาพจำได้นั้นก็เรียกว่าต้องนำเสนอคอนเทนต์กันแบบคงเส้นคงวากันพอสมควรเลย ชนิดทำให้คนเห็นจนกลายเป็นนิสัย มีสิ่งที่ทำให้จดจำได้ ซึ่งมันก็พอจะแบ่งออกมาเป็นเรื่องๆ ได้ดังต่อไปนี้ครับ
เนื้อหาที่แบรนด์ / เพจนำเสนอเป็นสำคัญ (ตัว Content Topic)
รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ (ภาพ / วีดีโอ / บทความ)
อัตลักษณ์ด้านภาพ (Visual Identity)
อัตลักษณ์ด้านภาษา (Language Identity)
อัตลักษณ์ด้านการเล่าเรื่อง (Storytelling Identity)
ช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์
นั่นคือองค์ประกอบพื้นฐานหลักๆ ที่จะมีส่วนในการสร้างภาพจำของตัวคอนเทนต์ขึ้นมา แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ยังมีส่วนของ Personality ของตัวคอนเทนต์ที่สามารถใช้ประกอบการคิดงานด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น
ภาษาที่มักใช้ในการทำคอนเทนต์ของแบรนด์
คำที่ใช้ / ไม่ใช้ในการทำคอนเทนต์
ลักษณะการอธิบาย / บรรยาย
คำสร้อยที่ใช้
ภาษา (หรือคำ) ที่ใช้การเปิด / ปิดคอนเทนต์
โทนของคำพูดที่ใช้ (หรือบางคนอาจจะเรียนว่า Mood)
ซึ่งพวกนี้มักนำไปสู่อัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละคน เช่นการเขียนด้วยภาษาที่กันเอง เข้าใจง่าย บ้างก็เป็นการเล่าแบบสนุก ตลก บางเพจก็เน้นประชดประชัน หรือบางคนก็อาจจะเลือกเป็นการนำเสนอแบบจริงจัง ซีเรียสอะไรไป
ที่ลองหยิบเรื่องนี้มาคุย เพราะถ้าเกิดคนทำคอนเทนต์เป็นเจ้าของเพจเองก็คงจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเนื่องจากเป็นคนคุม Personality ของตัวคอนเทนต์อยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นแบรนด์ที่มีคนทำหลายคน มีการส่งต่อบัญชีผู้ใช้งานเมื่อเปลี่ยนคนทำงาน หรือแม้แต่การจ้างเอเยนซี่คนใหม่นั้น มันก็ควรจะมีการกำกับเรื่องของ Content Personality ด้วยเหมือนกันว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ / ไม่ควรทำ ลักษณะของภาษาเป็นอย่างไร การใช้คำแบบไหนที่แบรนด์ใช้เป็นต้น
เรื่องนี้อาจจะดูหยุมหยิมสำหรับหลายๆ คน แต่ถ้าเป็นคนสายงานภาษา สายงานด้านการทำคอนเทนต์ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอยู่มากโข เพราะแค่เปลี่ยนการใช้คำ เปลี่ยนโทนของการเล่าเรื่องก็แทบจะเหมือนการเล่าเรื่องจากคนอีกคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ และถ้าไม่คุมให้ดีก็อาจจะทำให้ภาพของแบรนด์ผิดไปจากเดิมเอาได้ง่ายๆ นั่นเองล่ะครับ
Comments