top of page

ความเครียด vs ความกดดัน – ความแตกต่างที่มีผลกับการทำงาน

อันเนื่องมาจากที่วันนี้ผมโพสต์คอนเทนต์ว่าด้วยเรื่องการกดดันที่มาเกินไปอาจจะเป็นการทำลายพนักงานได้นั้น ก็ทำให้ผมนึกถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างความเครียด (Stress) และ ความกดดัน (Pressure) ที่มักจะเอามาใช้ในการอธิบายเรื่องการทำงานอยู่บ่อย ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วหลายคนเอง (รวมทั้งผมในสมัยก่อน) ก็อาจจะคิดว่าสองอย่างนี้เหมือน ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีความต่างกันอยู่นะครับ

ในหนังสือ Performing Under Pressure ของ Hendrie Weisinger ได้อธิบายเรื่องนี้แบบง่าย ๆ ไว้ว่าตัวความเครียดที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ก็มาจากการที่เราตกอยู่ในภาวะที่มีความต้องการ (Demand) มากกว่าทรัพยากรหรือสิ่งที่เราทำได้ (Supply) เช่นเรามีจำนวนงานที่ต้องทำมากกว่าเวลาที่เรามี เรามีของที่ต้องซื้อมากกว่าเงินที่เรามี ฯลฯ และนั่นทำให้เรารู้สึกอึดอัดเนื่องจากเราไม่สามารถทำได้หมดทุกอย่าง แล้วก็เลยเกิดเป็นความเครียดขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความกดดันแล้ว จะมีความต่างจากความเครียดทั่ว ๆ ไปคือความกดดันนั้นเกิดขึ้นในจังหวะที่เป็นห้วงเวลาสำคัญของการมีชีวิตรอด เป็นจังหวะสำคัญแบบความเป็นความตาย ซึ่งตรงนี้ก็จะย้อนกันไปตั้งแต่อดีตที่มนุษย์เราจะอยู่ในสถานการณ์กดดันเพื่อเอาชีวิตรอดจากสัตว์ป่า การระวังตัวจากการถูกล่า หากทำอะไรพลาดไปก็อาจจะทำให้เราเสียชีวิตได้ ซึ่งแน่นอนว่าพอมาเป็นยุคปัจจุบันนั้นก็คงไม่มีเรื่องของการเสียชีวิตอะไรแล้ว แต่สัญชาติญาณดังกล่าวก็ยังอยู่คือภาวะที่เรารู้สึกว่าความผิดพลาด การทำสิ่งนั้น ๆ ไม่สำเร็จจะนำมาซึ่งความสูญเสีย เช่นเสียงานที่ตัวเองทำ โดนไล่ออก โดนทำโทษ ฯลฯ

ตรงนี้หลายคนก็อาจจะถามว่าแล้วเราจะรู้เรื่องนี้ไปทำไม ? เขาก็มีการอธิบายต่อว่าถึงแม้ภาวะเครียดกับกดดันอาจจะมีหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน แต่ถ้ามองกันในรายละเอียดแล้วเราก็จะรู้ว่าภาวะความเครียดหลายอย่างอาจจะไม่เกี่ยวกับความกดดัน หรือพูดง่าย ๆ คือมันไม่ได้สำคัญขนาดเป็นเรื่องความเป็นความตาย และเราก็ไม่ควรจะเสียพลังชีวิตหรืออารมณ์ไปกับสถานการณ์นั้น ๆ เช่นถ้าเราอยู่ในสถานการณ์มีเรื่องต้องทำเยอะ มันก็อาจจะเป็นความเครียดที่ต้องจัดการ แต่ไม่ถึงขนาดต้อง “กดดันตัวเอง”

ที่พูดแบบนี้เพราะถ้าเราอยู่ในภาวะกดดันมาก ๆ เข้าก็อาจจะส่งผลเสียกับตัวบุคคลนั้นมากพอสมควร ทั้งอาจจะเป็นความเสี่ยงเรื่องซึมเศร้า หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ ตรงนี้เองที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้น ๆ กับคนซึ่งพยายามกดดันตัวเองกับทุกเรื่องจนทำให้จมอยู่กับสภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ หรือในอีกทางหนึ่งก็คือกลัวไปทุกเรื่องจนกลายเป็นความกดดันจากทุก ๆ อย่างก็มี

ด้วยเหตุนี้ หนังสือดังกล่าวถึงบอกว่าเราควรแยกแยะและเข้าใจภาวะทางอารมณ์เช่นเดียวกับตัวสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ว่าเป็นความเครียดหรือความกดดันกันแน่ และสามารถเลือกใช้พลังานรับมือได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนแนะนำคือการตั้งคำถามในสถานการณ์ที่เราเริ่มรู้สึกกดดันนั้นว่าทำไมการทำสิ่งนี้ให้สำเร็จถึงสำคัญ ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันผิดพลาด ? สิ่งที่เราคาดหวังนั้นอยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่ ? ซึ่งพอเราคิดพิจารณากันได้ดีแล้วก็อาจจะสามารถรู้วิธีการรับมือกับความกดดันดังกล่าว หรือปรับให้ความกดดันนั้นไม่มากเกินไปจนทำร้ายตัวเราเอง

และแน่นอนว่าเมื่อเราสามารถแยกแยะระหว่างความเครียดกับความกดดันที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้แล้วนั้น เราก็สามารถเริ่มจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราทำ ความคาดหวังต่าง ๆ ที่จะมี เช่นเดียวกับการรับอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อชำนาญแล้วก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับความกดดันในงานได้ดีกว่าเก่านั่นเอง

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page