คุณภาพของความคิด…เรื่องน่าห่วงเมื่อเราเรียกหาเสรีภาพ
วันนี้ก่อนออกจากบ้าน ได้มีโอกาสนั่งคุยกับแม่เรื่องความเน่าเฟะของการศึกษาไทย (อีกแล้ว) ด้วยการที่แม่เองก็เป็นอาจารย์มาหลายสิบปี แถมปัจจุบันก็ยังสอนพิเศษรวมทั้งตรวจคุณภาพการศึกษาด้วย นั่นทำให้ผมได้ฟังเรื่องราวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสภาวะการศึกษาของเด็กที่จะกลายเป็นบุคลกรของชาติอยู่บ่อยๆ
แม่เล่าให้ฟังถึงเด็กที่มาเรียนกับแม่คนล่าสุด ซึ่งพ่อแม่ฝากฝังมาให้ช่วยสอนเนื่องจากค่าสอนพิเศษข้างนอกแพงมาก สิ่งที่แม่ค้นพบคือน้องเรียนอยู่ชั้นม.1 แต่กลับอ่อนด้านภาษาอังกฤษขนาดนัก ชนิดคำว่า I You We They ยังเข้าใจไม่ขาดว่าแปลว่าอะไร นั่นยังไม่นับวิชาคณิตศาสตร์ที่แม่บอกว่าเป็นปัญหาพอๆ กัน
ที่น่าตกใจกว่าคือเด็กคนนี้ได้เกรด 3 จากโรงเรียน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองเข้าใจมาตลอดว่าลูกตัวเองอยู่ในระดับดี
ความน่าสนใจคือระบบการศึกษาทุกวันนี้ทำให้หลายๆ โรงเรียนปล่อยเกรดเพื่อทำให้ดูเหมือนเด็กโรงเรียนตัวเองมีมาตราฐานสูง มีผลการเรียน นี่ยังไม่นับกรณีหลายโรงเรียนปล่อยเกรด GPA ในช่วงมัธยมปลายเพื่อช่วยนักเรียนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก
เพราะระบบการวัดมาตรฐานโดยใช้ตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องนี่เอง ที่ทำให้เกิดช่องโหว่ที่หลายคนคาดไม่ถึงและกลายเป็นเหมือนความสวยงามภายนอกที่ภายในกลวงโบ๋จนอาจจะกลายเป็นความน่ากลัวได้ในอนาคต
เขียนมาถึงตรงนี้ ไม่ใช่ว่าบล็อกนี้จะมาอธิบายเรื่องระบบการศึกษาอะไรหรอกนะครับ (ไว้จะเขียนวันหลัง) แต่สิ่งที่ผมอดคิดจากการคุยกับแม่วันนี้ไม่ได้คือการเชื่อมโยงไปสิ่งที่หลายคนพูดถึงกันในช่วงระยะเวลาหลังๆ นั่นคือการมีเสรีภาพทางความคิด (Freedom of Thought) จนไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech)
ในช่วงที่เรากำลังพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น มีหลายคนพูดให้ผมได้ยินบ่อยๆ ว่าประเทศเราต้องการเสรีภาพให้กับประชาชน ซึ่งจะด้วยเหตุผลในแง่อุดมการณ์ การเมือง หรือวัตถุประสงค์อะไรนั้น ก็มีหลากหลายกันไป แน่นอนว่าทั้งหมดพยายามบอกว่าเราต้องมีเสรีภาพที่จะคิดเกิดกว่ากรอบที่เราเห็นว่ามี ความมีสิทธิ์ที่จะพูดและแสดงออกมากกว่าจะถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่ปิดกั้นเอาไว้
ฟังดูก็เป็นเรื่องของปรัชญาเสรีนิยมที่มาพร้อมกับแนวคิดประชาธิปไตยที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้น รวมทั้งตีความไปต่างๆ นานาตามฝั่งและฝ่ายของขั้วการเมือง
แต่ก็นั่นแหละ ประเด็นจากการคุยกับแม่ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเสรีภาพนั้นอันตรายแค่ไหนหากคนที่ใช้ไม่มีคุณภาพ? เราให้เสรีภาพทางความคิดเป็นสำคัญ แต่เราแทบจะไม่ได้พูดเรื่องคุณภาพของความคิดเลยสักเท่าไร
จริงอยู่ว่าสิทธิและเสรีภาพในการคิดเป็นที่สิ่งที่มนุษย์ในสังคมพึงมี และก็คงเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้เนื่องจากเกิดขึ้นในสมองของแต่ละคน แต่นั่นก็น่าจะไปสู่การตั้งคำถามว่าเสรีภาพจะให้ขอบเขตของการคิดแค่ไหนกัน และภายใต้ขอบเขตที่กว้างขวางนั้นจะกลายเป็นความคิดที่มีคุณภาพ ที่สามารถนำมา “สร้างสรรค์” สังคมให้ดีขึ้นแบบเดียวกับที่หลายคนเอามาอ้างเพื่อเรียกร้องได้มากน้อยแค่ไหน?
โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้เรามีโอกาสสร้างสรรค์ความคิดต่างๆ ขึ้นมาได้อีกมาก แต่นั่นก็จำเป็นที่คนคิดก็ต้องมีทักษะและรู้จักใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย หาใช่ว่านำมันไปแบบผิดๆ ไม่มีประโยชน์ และบั่นทอนความเจริญของทั้งตัวเองและสังคมอีก เพราะเราก็ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้มีคนมากมายที่ใช้สิทธิ์และเสรีภาพนี่แหละทำร้ายผู้อื่นเสียอีกต่างหาก
ถ้าทุกวันนี้เราเรียกร้องและตะเบงหาสิทธิและเสรีภาพโดยไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของคนที่จะใช้มันแล้ว ผมว่ามันก็เป็นเรื่องน่าห่วงที่เรากำลังคิดจะเอาแต่เครื่องมือโดยไม่ได้ดูว่าคนของเราพร้อมจะใช้มันหรือไม่
ซึ่งในประสบการณ์ของเราก็เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่านั่นนำไปสู่การเสียเปล่า หรือ “ขยะ” บ่อยแค่ไหน
การคิดเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ หลายอารยธรรมในอดีตให้ความสำคัญกับการคิดเพราะนั่นนำไปสู่การพัฒนาอีกมากมาย ผมเชื่อว่าที่ทุกวันนี้เราพยายามพูดเรื่องการคิด ก็เพราะเราอยากให้คนในสังคมไทยเราพัฒนาขึ้นไปอีก และคุณภาพของความคิดนั้นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจมากๆ ในปัจจุบัน
เพราะถ้าเรายังคิดกันแบบตรรกะมึนๆ มองความจริงแบบหลับตาข้างหนึ่ง เห็นเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น คิดแต่สิทธิแต่ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ ก็คงน่าเป็นห่วงว่าเสรีภาพทางความคิดอาจจะเป็นยาพิษ มากกว่าจะเป็นยารักษาที่ตอนนี้เราเรียกร้องกันปาวๆ
Comments