จะใช้กี่โมเดลก็พัง ถ้ายังกรอกข้อมูลผิด ๆ ไปวิเคราะห์
ในชีวิตการทำงานทั้งการตลาดและการบริหาร รวมทั้งอ่านหนังสือมามากมายนั้น ผมได้เห็นโมเดลต่าง ๆ มากมาย ทั้งแบบคลาสสิคอย่า SWOT / PESTEL / MOST หรือพวกโมเดลใหม่ ๆ แบบ 4C 4E และอีกมากมายที่นักการตลาดชอบสรรหามานำเสนอกัน และแน่นอนว่าโมเดลเหล่านี้ก็จะถูกหยิบไปใช้ในออฟฟิศต่าง ๆ รวมทั้งบรรดา Framework อีกมากมายที่ขยันนำมาใช้กัน
แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมเหล่าผู้บริหาร ผู้จัดการ และนักการตลาดต่าง ๆ มากมายก็ล้วนมีโมเดลแบบนี้กันหมด ได้เรียนตำราเดียวกันหมด แต่พอใช้จริงแล้วมันกลับพังหรือไม่เข้าท่าเอาเสียเลย?
จริง ๆ เรื่องนี้ก็อธิบายได้ง่าย ๆ ว่าพวกโมเดลและ Framework เหล่านี้เป็น “กรอบวิธีคิด” เพื่อให้คนใช้งานได้นำไปใช้กำกับความคิดตัวเองในการวิเคราะห์หรือเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ มันเป็นเครื่องมือประมวลผลชั้นดีเพื่อใช้ในการนำข้อมูลต่าง ๆ ของสถานการณ์ธุรกิจมาประเมิน วิเคราะห์ เพื่อหาคำตอบต่าง ๆ ตามที่เครื่องมือเหล่านี้ถูกคิดขึ้นมา
แต่เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่หาข้อมูลที่จะนำไปใส่เพื่อคิดหาคำตอบ แต่หากเป็นหน้าที่ของผู้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ที่ต้องกรอกข้อมูลลงไปต่างหาก
ฉะนั้นแม้ว่า SWOT จะเป็นเครื่องมือการดีแค่ไหน แต่ถ้าคนกรอกข้อมูลหลอกตัวเองและกรอกข้อมูลผิด ๆ ลงไป การวิเคราะห์ก็พังอยู่วันยังค่ำ และเมื่อเราได้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดเอาได้ง่าย ๆ
ตัวอย่างของกรอบวิธีคิดง่าย ๆ ที่ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะมีก็คือการคิด “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ต่อตัวเลือกต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะใช้วิธีการคิดนี้เป็นพื้นฐานอยู่ แต่เราจะเห็นว่าเอาคนสองคนมามองสถานการณ์เดียวกัน ประเด็นเดียวกัน ใช้ตรรกะเดียวกัน ก็กลับได้คำตอบที่ไม่เหมือนกันเพราะแต่ละคนนั้นเลือกจะใช้มุมมองของตัวเอง ประสบการณ์ของตัวเองในการตัดสินและประเมินบนหลักการดังกล่าว
เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะมีตรรกะการคิดที่ดีแค่ไหน กรอบความคิด โมเดลที่ยอดเยี่ยม Framework ชั้นนำอย่างไร แต่ถ้าตัวมนุษย์ที่เป็นคนมองและนำข้อมูลไปใส่ในชุดเครื่องเหล่านี้เพื่อประมวลผลกลับนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ลำเอง มีอคติไปใส่ มันก็ได้คำตอบที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง
ความตลกอย่างหนึ่งที่ผมเจอในชีวิตจริงของการทำงานนั้นคือคนส่วนใหญ่ไปโฟกัสกับเรื่องของการใช้โมเดล สรรหาโมเดลต่าง ๆ มาใช้งาน พยายามอัพเดทโมเดลต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับกระแสแต่สุดท้ายก็กรอกข้อมูลผิด ๆ ลงไปในโมเดลอยู่ดี เหมือนกับยุคหนึ่งที่คนแห่กันไปใช้ OKR กันแล้วบอกว่า KPI ล้าหลัง ควรเลิกใช้ได้แล้ว ทั้งที่จริง ๆ หากเข้าใจการใช้งาน KPI และตั้ง KPI อย่างที่ควรจะเป็น ถูกต้อง มันก็สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพ และต่อให้ปรับไปใช้ OKR โดยที่ก็ยังกรอกข้อมูลผิด ๆ กันอยู่ก็มีแต่ทำให้การวัดผลพังและไม่ได้ผลยิ่งกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
ก็ลองฝากเอาไว้ให้คิดนะครับว่าก่อนจะตามเห่อบรรดาโมเดลอะไรนั้น โมเดลพื้นฐานที่เป็นคลาสสิคใช้กันมาอย่างยาวนานนั้นได้ใช้งานมันอยากถูกต้องแล้วหรือยัง? หรือที่ผิดไม่ใช่โมเดล แต่คือตัวคนที่ใช้ต่างหาก
Comments