top of page

จุดขายของ Publisher / Influencer ที่ไม่ใช่แค่ยอดวิว ยอดไลค์

หากเป็นสมัยก่อนที่เรายังมี Blogger ไม่เยอะนัก มีเพจดังๆ ไม่กี่เพจ การแข่งขันกันของตลาด Digital Publisher / Online Influencer ก็คงไม่ได้หนักหน่วงเท่าไร เรียกได้ว่า “แบ่งๆ งานกัน” และมักจะลงเอยว่าเป็น “คนคุ้นๆ กัน”

แต่พอตลาดเริ่มปรับตัว มีการลงเม็ดเงินโฆษณากับ Influencer มากขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดบล็อก เพจ เนตไอดัล YouTuber ฯลฯ ที่มากันแบบถล่มทลายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น มันก็ทำให้การแข่งขันของเหล่า Influencer ก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ

และในภาวะที่การแข่งขันมันร้อนแรงขนาดนี้แล้ว ก็มีหลายคนมาปรึกษาผมเหมือนกันว่าจะเอาอะไรไปสู้ดีเพื่อให้อยู่รอด จะทำอย่างไรเพื่อจะยังได้งานอยู่เรื่อยๆ (เอาแบบให้สามารถเป็นอาชีพได้) เพราะเมื่อตัวเลือกมากขึ้นแล้ว มันก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะโดน “แย่งงาน” จากคนอื่นๆ หรือรายใหม่ๆ

เมื่อเจอคำถามดังกล่าวแล้ว ผมก็เลยมานั่งคิดเรื่องจุดขายต่างๆ ที่ Influencer อาจจะหยิบมาพิจารณาได้ว่าตัวเองจะตอบโจทย์อะไรกับการตลาด / เหมาะกับการโดนว่าจ้างโดนแบรนด์ ซึ่งก็ลองลิสต์เป็นข้อๆ ตามนี้ครับ

การเข้าถึงคนจำนวนมาก

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงการโฆษณาแล้ว เรื่องเบื้องต้นที่นักการตลาดจะมองคือการสื่อสารนั้นจะเข้าถึงคนจำนวนมากได้หรือไม่ บ้างก็จะคิดกันเลยว่ายิ่งมากยิ่งดี ฉะนั้นเรื่องของจำนวนยอดคนตาม (Subscriber / Follower) หรือการที่คอนเทนต์จะมีคนเห็น / ดู (Reach / View / Page View) ก็เป็นตัวเลขที่ถูกพิจารณาอยู่เสมอ ซึ่งหลายๆ Influencer ที่มีฐานคนดูอยู่อย่างหนาแน่นก็จะเอาเรื่องมาเป็นจุดขายกันอยู่บ่อยๆ

การเข้าถึงคนดูที่มีคุณภาพ

ไม่ใช่ว่าปริมาณชนะเสมอไป เพราะบางแคมเปญนั้นสนใจเรื่องคุณภาพของคนที่ดูคอนเทนต์ด้วย เช่นเป็นกลุ่มคนที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแคมเปญไหม เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสจะซื้อสินค้านั้นๆ หรือเปล่า ซึ่งนั่นทำให้บาง Influencer อาจจะไม่ได้มีคนตามเยอะ แต่คนที่ตามนั้นเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีคุณภาพ (เช่นเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง เป็นคนที่ชื่นชอบของแบบเดียวกัน เป็นต้น) และก็มักจะพบว่า Influencer สายนี้อาจจะไม่ได้ทำคอนเทนต์กลางๆ (หรือที่บางคนอาจจะเรียกว่าแมสๆ) แต่เน้นเจาะลึก หรือเฉพาะทางกับเรื่องบางเรื่องไปมากๆ

ความน่าเชื่อถือกับคนตาม

นอกจากเรื่องปริมาณและคุณภาพของคนที่มาดูคอนเทนต์แล้ว เรื่องของความน่าเชื่อถือ วิธีการนำเสนอ และ Feedback จากคนที่มาดูคอนเทนต์ก็สามารถเป็นจุดขายได้เช่นกันถ้าตัว Influencer นั้นสามารถแสดงให้เห็นว่าการทำคอนเทนต์ของตัวเองนั้นสามารถโน้มน้าวหรือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนดูได้จริงๆ (ซึ่งบางทีก็ดูจากบรรดาคอมเมนต์หรือปฏิสัมพันธ์ต่างๆ)

ความเฉพาะทางของเนื้อหา

อันนี้ก็จะโฟกัสไปว่าตัวเราและคอนเทนต์ที่เราทำนั้นมีความเฉพาะทางอย่างไร ต่างจากคนอื่นตรงไหน เช่นเจาะลึกมากกว่า ให้ความเห็นที่มีมิติมากกว่า มีข้อมูลน่าเชื่อถือมากกว่าอะไรก็ว่ากันไป รวมไปถึงการเลือกหัวข้อคอนเทนต์ที่อาจจะต่างจากคนอื่น หรือมีบางเรื่องที่คนอื่นเขาไม่ได้พูด ซึ่งนั่นก็ทำให้สามารถเข้าถึงหรือเป็นที่ต้องการของคนดูบางกลุ่มได้ดีกว่า Influencer คนอื่นๆ

วิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์

ถ้าเกิด Influencer ทุกคนพูดเหมือนๆ กัน ประเภทเอาข่าว PR ไปลงเหมือนๆ กัน เล่าตามสคริปแบบเดียวกัน มันก็คงเป็นเรื่องน่าเบื่อและจำเจสำหรับคนดูคอนเทนต์อยู่พอสมควร ซึ่งถ้า Influencer คนไหนสามารถหาวิธีนำเสนอ / เล่าเรื่อง / แนะนำสินค้าที่ต่างไปจากคนอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความน่าติดตาม น่าสนใจ น่าเชื่อถือและก็ยังตอบโจทย์การตลาดได้อยู่ มันก็สามารถเป็นจุดขายที่ดีอีกจุดหนึ่ง (ตัวอย่างเช่นเคสของพี่เอ็ดเจ็ดวิ เป็นต้น)

การประสานงาน / ทำงานร่วมกับแบรนด์

อันนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับคนดู แต่จะเกี่ยวกับคนจ้าง เพราะก็ต้องยอมรับว่ามีบาง Influencer ที่อาจจะมีคนตามเยอะ แต่ก็เรียกว่า “เรื่องมากสุด” หรือไม่ก็ “ทำงานด้วยยากสุดๆ” ตลอดไปจนการมีเงื่อนไขมากมายชนิดคนทำงานด้วยปวดหัวเป็นอันมาก นั่นก็ทำให้บรรดารายใหม่ที่อาจจะมียอดสูงไม่เท่า แต่ก็ทำงานด้วยง่ายกว่า คุยรู้เรื่อง เจรจาได้ ก็สามารถกลายเป็นจุดขายที่ทำให้เอเยนซี่จะพยายามเชียร์ หรือแบรนด์ก็อยากทำงานด้วยนั่นเอง

ราคา

ข้อนี้ก็คงไม่อาจจะปฏิเสธได้เช่นกันว่าค่าจ้างก็เป็นจุดขายที่สามารถหยิบมาพิจารณาได้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายบรรดาแบรนด์ / เอเยนซี่ซึ่งต้องบริการงบประมาณนั้นก็ต้องดูว่าจะให้งานกับใคร เป็นต้นทุนเท่าไร ก่อนจะไปเทียบกับผลที่คาดว่าจะได้รับ หรือผลงานก่อนหน้า ซึ่งถ้าเกิดใครโก่งราคาสูงๆ แต่ผลงานไม่ได้ตามราคาก็อาจจะถูกปรับลดความสำคัญลง และรายใหม่ๆ ซึ่งยังทำราคาไม่สูง แต่ได้ผลดี ก็สามารถเข้ามาเบียดได้ (ซึ่งก็กรณีของ Micro Influencer ก็จะคล้ายๆ แบบนี้ด้วยเช่นกัน)

ที่เล่ามานี้คือตัวอย่างของ “จุดขาย” ที่เหล่า Influencer ควรจะหาให้ตัวเอง ถ้าใครมีมากกว่าหนึ่งข้อก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนใครที่ไม่มี หรือพบว่ายังไม่ได้มีเยอะพอที่จะเรียกว่า “จุดขาย” ได้นั้น ก็อาจจะต้องรีบพัฒนากันเสียหน่อยแล้วกันนะครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page