ช่างคอมเมนต์อาจจะไม่ได้ทำให้ดูฉลาดเสมอไป
วันก่อนได้มีโอกาสเจอรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งทำงานให้กับแบรนด์สินค้าและต้องดีลงานกับเอเยนซี่อยู่บ่อยๆ ก็เลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากทั้งมุมมองของเป็นเอเยนซี่ที่ต้องทำให้ให้ลูกค้ากับมุมมองของการเป็นผู้ตรวจงาน
ที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยคือน้องได้เล่าให้ฟังว่ารุ่นพี่ที่ทำงานได้สอนเธอให้ช่างจับผิดกับงานที่เอเยนซี่ส่งมา และต่อให้งานที่ทำมานั้นดีแล้ว ก็ต้องให้คอมเมนต์เพื่อกลับไปแก้ใหม่ ไม่ก็ต้องให้คอมเมนต์ที่ฟังดู “ฉลาดๆ” หรือต้องตีความเพื่อให้เอเยนซี่ต้องกลับไปทำงานเพิ่ม
คอมเมนต์ไปให้ได้แหละน้อง เอเยนซี่จะได้ไม่มองพวกเราโง่
นั่นคือเรื่องเล่าที่ทำให้ผมถึงกับสะดุดกึกกันเลยทีเดียว
อันที่จริง ผมก็เคยเล่าไปบ้างแล้วว่าหลายๆ คนพยายามทำตัวเป็นนักจับผิดเพื่อจะบอกว่าตัวเองเป็นคนละเอียด ซึ่งมันก็มีคนที่ละเอียดมากจริงๆ และทำให้งานมีคุณภาพมากๆ แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนที่ “แสร้งทำ” ว่าเป็นคนละเอียด หรือหาเรื่องที่จะพยายามพรีเซนต์ตัวเองแบบนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นเรื่องน่าขำหรือไม่ก็กลายเป็นประเด็นเม้าท์ของคนที่ทำงานด้วยไปโดยปริยาย
ใช่ครับ ผมอยากบอกว่าการคอมเมนต์แบบที่บอก ประเภทหาเรื่องคอมเมนต์ให้ได้นั้น ไม่ได้ทำให้คนคอมเมนต์ดูฉลาดขึ้นหรอกครับ หากแต่มันทำให้คนที่รับฟังส่ายหน้าเพราะมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับการทำงานเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันการกลับไปแก้ไขงานใหม่จากคอมเมนต์ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว ก็มีแต่เสียเวลาหรืออาจจะทำให้งานแย่กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งนั่นทำให้คนที่คอมเมนต์กลายเป็นตัวตลกไปเลยก็ว่าได้
เราได้ฟังเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของคนที่ประสบความสำเร็จอย่าง Steve Jobs ที่ละเอียดสุดๆ กับการพรีเซนต์งาน หรือรายละเอียดของการออกแบบชนิดดูกันตั้งแต่แกะกล่องกันเลย ฟังดูแล้วทำให้เรารู้สึกว่าการแก้ไขงานแบบละเอียดๆ นั้นดูดีทีเดียว แต่การจะเอาตามแบบ Steve Jobs นั้นเราก็ต้องมาดูกันต่อว่าเรามีทักษะ ความสามารถ รวมทั้งมีพรสวรรค์มากเท่าเขาหรือเปล่า (ผมมักพูดเสมอว่าถ้าคุณคิดจะเลียนแบบ Jobs แต่เก่งไม่เท่าเขา คุณรู้ตัวไว้เลยว่าคุณจะกลายเป็นหมาหัวเน่าเพราะนิสัยของ Jobs นั้นเผด็จการแถมแย่เอามากๆ)
ย้อนกลับมาที่วิธีคิดของรุ่นพี่ที่สอนต่อรุ่นน้องในการทำงานกับเอเยนซี่ โดยส่วนตัว ผมว่าทัศนคติแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้งานดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้คิดโดยเอางานเป็นตัวตั้ง แต่เป็นการคิดเพียงเพื่อป้องกัน “ตัวเอง” เท่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำลายคนทำงานด้วยกันเสียเปล่าๆ
ผมเคยเขียนบล็อกอธิบายเรื่องการคอมเมนต์งานไว้ก่อนหน้านี้ ผมเข้าใจดีว่าหลายๆ ครั้งเราก็อยากคอมเมนต์ในลักษณะที่ต้องการทดลองหรือชวนเชิญให้คนคิดงานท้าทายความสามารถหรือลองอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าเราจะให้คอมเมนต์แบบนั้น เราก็ต้องชัดเจนว่าคอมเมนต์นั้นเพื่อพัฒนางานให้ดีขึ้น ไม่ใช่การจับผิดหรือหาเรื่องผิดเพื่อจะได้มาแก้ไขงาน เหนืออื่นใดแล้ว คอมเมนต์ต่างๆ นั้นควรจะเป็นประโยชน์กับงานนั้นๆ เป็นสำคัญ
ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่กับเอเยนซี่ที่รับงานต่อจากเรา เป็นธรรมดาที่เราอาจจะเจอทั้งคนที่ตั้งใจทำงานหรือคนที่ขี้เกียจทำงาน ก่อนจะคอมเมนต์อะไรนั้น เราก็ควรดูด้วยว่าคนๆ นั้นเป็นคนแบบไหน ถ้าเป็นคนประเภทไม่ทำงาน ไม่เอาอ่าว การคอมเมนต์ดัดหลังก็อาจจะฟังขึ้นอยู่บ้าง
แต่กับคนทำงานอย่างตั้งใจแล้ว การคอมเมนต์แบบขอไปทีหรือหาเรื่องคอมเมนต์อาจจะทำให้คุณเสียคนดีๆ ที่อยากทำงานให้คุณไปเลยก็ได้เหมือนกัน
Comments