ซื้อ Fan กับ Follower เวิร์คหรือไม่?
วันก่อนผมนั่งคุยกับน้องคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์ ผมก็แนะนำไปเรื่องการสร้าง Fan Page และแนวทางคอนเทนต์ไป จนมาถึงประเด็นเรื่องจำนวนคนตามไม่ว่าจะบน Facebook หรือ Instagram นั้นก็จะกลับมาคำถามที่คุ้นเคยเสมอคือทำอย่างไรถึงจะมีคนตามเยอะๆ
แน่นอนว่าคำตอบมาตรฐานทุกวันนี้ก็คือการลงทุนซื้อโฆษณาโปรโมท Facebook Page ของตัวเองให้คนเห็น ได้รู้จัก แล้วกดไลค์ติดตาม (ถ้าไม่นับว่าเรามีคอนเทนต์แหวกแนวที่สามารถสร้างความฮือฮาได้น่ะนะ) อย่างไรก็ตาม การซื้อโฆษณาปรกตินั้นต้องใช้เวลาและงบประมาณอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน มันเลยนำไปสู่บทสนทนาที่ว่าซื้อแฟนแบบที่เห็นประกาศขายทั่วไปดีกว่าไหม?
ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคำตอบของนักการตลาดทั่วๆ ไปก็คงจะบอกว่าไม่ดีเป็นแน่ แต่คำตอบที่น้องคนนั้นพูดมาก็น่าคิดไม่น้อย เพราะเขาบอกว่าการมีตัวเลขคนตามเยอะๆ ก็ทำให้คนเชื่อถือและคิดว่าร้านนี้ดังเป็นแน่
เอาล่ะ ถ้าเรามามองประเด็นนี้แล้ว เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เขาพูดก็มีส่วนจริง การมีตัวเลขคนไลค์เยอะๆ หรือคนตามบน Instagram สูงๆ ย่อมทำให้คนที่เห็นแว้บแรกคิดว่าร้านนี้น่าเชื่อถือ มีคนเป็นลูกค้าจำนวนไม่น้อยแน่ๆ ครั้นบางคนอาจจะบอกว่าเราสามารถเช็คได้ว่ามีคนกดไลค์จริงยังไง Engagement มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องพูดกันบนความจริงว่าก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ดูเช่นกัน
ฉะนั้น การจะตอบว่าการซื้อแฟนไม่เวิร์คไปเสียทุกอย่างก็คงจะไม่ใช่เสียทีเดียว และแม้ว่าส่วนตัวผมจะไม่สนับสนุนการซื้อแฟนแบบเน้นตัวเลขนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่จิตวิทยานั้นก็มีผลไม่มากก็น้อย
ซึ่งถ้ามองกันแบบเร็วๆ แล้ว หาก Facebook Page หรือ Instagram ที่จะซื้อแฟนมานั้นไม่ได้คิดในแง่การโพสต์ต่อเนื่องแล้วจะมีคนเห็นหรือมีคนมาปฏิสัมพันธ์ด้วย มันก็อาจจะเป็น “ทางลัด” ที่หลายๆ คนเลือกใช้
แต่ถ้าเราจะมองว่าการสร้าง Facebook Page นั้นเป็นการสร้างฐาน “คนติดตาม” ในระยะยาว คือหลังจากที่คนมาตามแล้วจะได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าหรือข้อมูลต่างๆ อีกอยู่เรื่อยๆ แล้ว การมีไลค์พุ่งพรวดจาก “ไลค์ปลอม” ก็คงจะไม่ใช่เรื่องดีแน่ (โดยเฉพาะกับ Facebook Page) เพราะตัวเลขที่สูงนั้นไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายจริง บางทีก็อาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เลยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ต่อให้เราโพสต์อะไรก็คงจะไม่ได้ลูกค้ากลับมาเท่าไร
อย่างไรก็ตาม กฏนี้ก็อาจจะมีอีกมุมมองหนึ่งหากเป็นเรื่องของ Instagram เพราะระบบ Timeline ของ Instagram นั้นต่างจาก Facebook เนื่องจากใครกด Follow ก็ได้เห็นคอนเทนต์โดยไม่ต้องไปกังวลตัว EdgeRank ของ Facebook ที่จะมาคัดกรองและเลือกส่งคอนเทนต์ให้คนตามแต่อย่างใด (พูดง่ายๆ คือถ้ากดตามแล้ว ยังไงก็ได้เห็นคอนเทนต์ถ้าเลื่อนตัว Feed ไปเรื่อยๆ)
พอมองแบบนี้ ก็จะเห็นได้ว่าการซื้อแฟนมันก็มีด้านที่เราอาจจะไม่ค่อยพูดถึงเหมือนกัน มันอาจจะเป็นตัวเลขที่ไว้ทำให้หลายๆ คนตัดสินอะไรหลายๆ อย่างในแว้บแรกที่เห็นได้อยู่เหมือนกัน และมันก็อาจจะเหมาะกับช่องทางบางช่องทางเท่านั้น
บล็อกนี้คงไม่ถึงขนาดฟันธงว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะส่วนตัวผมเองก็มักจะแนะนำให้เจ้าของทำการโปรโมตแบบปรกติหรือแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เสียมากกว่า เพราะการได้คนที่ใช่มาติดตามนั้น ยังไงก็ได้ผลดีกับเราในระยะยาวอยู่แล้ว
แต่ถ้าใครจะไปเล่นสายเท่า (หรือมืด) อันนี้ก็แล้วแต่จะคิดแล้วกันนะครับ
Comentarios