top of page

ถอดบทเรียนธุรกิจ ที่เราได้จากซีรี่ส์ The Bear



ผมเพิ่งได้นั่งดูซีรี่ส์ The Bear (เสียที) หลังจากที่ใส่เข้า Wishlist มานาน แล้วก็พบว่ามันเป็นซีรี่ส์ที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น แต่ก็สอนความเป็นธุรกิจ การบริหาร และภาวะผู้นำได้ดีทีเดียวผ่านการเดินทางของตัวละครที่ต้องมาบริหารร้านอาหารที่เริ่มด้วยความวุ่นวายและปัญหามากมายที่ต้องแก้ ตอนนี้ซีรี่ส์ไปถึง Season 3 แล้วแต่ผมขอหยิบ Season 1 มาสรุปประเด็นน่าคิดด้านการบริหารหน่อยแล้วกันนะครับ


1. การเปลี่ยนแปลงนั้นยาก (และต้องใช้เวลา)

ตัว Carmy ซึ่งเป็นตัวเอกนั้นเคยประสบความสำเร็จ เป็นเชฟชั้นยอดในร้านอาหารชื่อดัง และปัจจุบันมารับดูแลร้านอาหารของพี่ชายที่เสียไปซึ่งมีวิธีการทำงานที่โคตรจะคนละเรื่องกับในครัวร้านอาหารชั้นนำ ไม่ว่าจะพนักงานที่ทำเอาตามใจ สั่งก็ไม่ค่อยจะได้ ต่างคนโหวกเหวกไปมาเรียกได้ว่าที่สุดของความโกลาหล ซึ่งแน่นอนว่าตัว Carmy ก็พยายามจะ "จัดการ" ให้มันเป็นระบบ ตั้งแต่การสร้างลำดับการสั่งงาน กระบวนการต่าง ๆ ในครัว และอื่น ๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าไม่ใช่สั่งเปรี้ยงเดียวจะได้แต่อย่างใดเพราะพนักงานหลายคนก็ไม่ได้อินไปกับวิธีการนั้นแถมยังต่อต้านเสียอีกต่างหาก และแน่นอนว่าซีรี่ส์ก็ไม่ได้ใจดีประเภทพระเอกเทพประทานเราจะได้ดั่งใจ เพราะกว่าที่อะไรเข้าที่เข้าทางนั้นก็ต้องหัวร้อนกันไม่รู้กี่ครั้ง


เรื่องนี้มันก็คล้ายกับชีวิตของผู้ประกอบการ ผู้บริหารหลายคนที่เข้าไปรับมือกับองค์กรใหม่ บางทีก็เทียบได้กับผู้จัดการที่เข้าไปดูแลทีมใหม่ที่หลายอย่างมันจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ แม้จะเห็นช่องโหว่มากมายที่ต้องแก้แต่มันก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะในความจริงแล้วเราจะเจอคนที่โอเคกับที่ทำมาแม้ว่ามันไม่ได้ผลดีที่สุด จะเจอคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และมันเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องค่อย ๆ พาทีมผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้


2. ทุกเวลามีค่าเสมอ

ร้านอาหารของ Carmy นั้นเรียกว่าสุดจะวุ่นวายจนหาแทบไม่เจอว่าจะมีวันไหนทำอะไรได้สบาย ๆ กับเขา ปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าพร้อมกับเวลาที่เร่งรัดเข้ามาในแต่ละวันเพื่อที่จะต้องทำอาหารขายในช่วงเวลาสำคัญ สิ่งที่ซีรี่ส์ทำให้เราเห็นคือหากจะต้องการอยู่รอดในธุรกิจ เอาชนะการแข่งขันได้นั้นก็ต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด ทุกนาทีที่ผ่านไปจะสามารถกลายเป็นเวลาที่เสียเปล่าหรือสามารถแก้ไขปัญหาแล้วรีบเดินหน้าต่อให้ได้


เอาจริง ๆ โจทย์หนึ่งที่ซีรี่ส์เปิดมาเป็นเงื่อนไขได้ดีและคิดว่าเหมือนกับที่หลายธุรกิจเจอคือร้านอาหารนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่สู้ดีนัก บัญชีเรียกได้ว่าเข้าขั้นเละ หนี้สินบานและต้องหาเงินกันแบบสัปดาห์ชนสัปดาห์ การอยู่นิ่ง ๆ และไม่ทำอะไรเลยก็คงยากที่จะรอดไปได้และนั่นทำให้เราเห็นบรรดาตัวหลักในเรื่องพยายามใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด


3. เอาตัวรอดในวันนี้ และต้องพรุ่งนี้ด้วย

แน่นอนว่าปัญหาที่ Carmy เจอนั้นหนักหนาสาหัสประเภทที่ตัวละครหนึ่งยังพูดเลยว่าร้านนี้มัน "พัง" แล้ว ไม่ต้องมารักษามันแล้ว แต่ Carmy เองก็ยังพยายามอยู่ที่จะกอบกู้มัน อย่างไรก็ดี ซีรี่ส์มันก็ไม่ได้โลกสวยประเภทเสกความสำเร็จได้ดั่งใจ หากแต่ทีมของ Carmy ต้องกัดฟันเอาตัวรอดกันให้ได้ในวันต่อวัน ประเภทที่ว่าถ้าขายไม่ได้ในวันหนึ่งก็เกิดปัญหาการเงินเอาได้ เลยเป็นภาวะที่หัวเด็ดตีนขาด ไม่ว่าจะไฟดับ ส้วมระเบิด แก๊สหมด ก็ต้องหาทางเปิดร้านกันให้ได้


แต่ในขณะเดียวกัน Carmy เองก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปแบบวันต่อวัน เขายังต้องวางแผนด้วยว่าจะต้องปรับอะไรในร้านเพื่อให้สร้างรายได้มากขึ้น เขายังพยายามจะคิดเมนูใหม่ เปลี่ยนรูปแบบของอาหารเพื่อให้มียอดขายที่สูงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต เพราะไม่อย่างนั้นก็คงต้องนั่งทำงานกันแบบวันชนวันไปเรื่อย ๆ ไม่ไปไหนแน่


4. Cashflow คือหัวใจของธุรกิจ

ถ้าคุณไปเรียนการเงินไม่ว่าจะสำนักไหน หรือจะไปถามเจ้าของธุรกิจใด ๆ ก็ตามนั้น เขาจะพูดเหมือนกันเสมอว่า Cash (เงินสด) คือสิ่งที่สำคัญสุด ๆ ของธุรกิจ เพราะแม้จะมีลูกค้ามากขนาดไหนแต่หากไม่สามารถหมุนมาเป็นเงินสดให้ธุรกิจได้ก็ยากจะทำอะไรอย่างอื่นต่อ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งวัตถุดิบ จ่ายค่าแรง หรือแม้ต่การจ่ายค่าซ่อมแซมร้านที่อาจจะมาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้นั่นเอง ฉะนั้นแล้ว เจ้าของธุรกิจจึงต้องมีความรู้และความเข้าใจเรื่องบัญชีพร้อมทั้งพยายามบริหารให้ตัวเองมีกระแสเงินสดที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจให้ได้


5. Be Human

แม้ว่าตัว Camry จะรับมือกับความวุ่นวายในหลังร้านขนาดไหน หรือแม้แต่ในวันแย่ ๆ ที่เกิดปัญหาชนิดคนดูยังหัวร้อนหรือไม่ก็อึดอัดแทน แต่สุดท้าย Camry ก็จะออกมายืนนิ่ง ๆ แล้วก็ไม่ได้ทำร้ายคนอื่น ๆ ในร้านที่สร้างปัญหา แต่เขากลับเลือกจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเขาว่าวันร้าย ๆ มันก็เกิดขึ้นกับเราได้เสมอเช่นเดียวกับความผิดพลาดที่จะเกิดกับเราได้อีกในอนาคต

ความน่าคิดในช่วงหนึ่งของเรื่องนี้คือคนดูอาจจะรู้สึกหงุดหงิดจนบ่นในใจว่าทำไม Camry ไม่ไล่ตัวปัญหาออกจากร้านหรือจัดการแบบเฉียบขาดฟันฉับ แต่เขาเลือกจะมองปัญหาและสถานการณ์แบบเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในหลายครั้ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนในร้านเริ่มหันมาเคารพเขามากขึ้น ไม่ใช่แค่จากการอยู่ในตำแหน่งเจ้าของร้านเท่านั้น


นี่เป็นส่วนหนึ่งของแง่คิดที่ผมเพลิดเพลินกับการดูซีรี่ส์นี้ และเชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูก็อาจจะคิดอะไรได้อีกมากมายเช่นกัน

ใครที่ยังไม่เคยดู ผมแนะนำให้ดูนะครับ ซีรี่ยส์สนุกมากทีเดียวเลยล่ะ (ทาง Disney+)

Opmerkingen


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page