ถ้ามองดี ๆ แล้ว การทำ Data Marketing ก็ไม่ต่างจากการทำอาหาร
วันก่อนผมฟังบรรยายในสัมมนา Advertising Week New York 2024 ซึ่งก็มี CEO ของบริษัทที่ทำด้าน Digital Marketing ขึ้นมาบรรยายโดยใส่ชุดพ่อครัวขึ้นมา แน่นอนว่ามันก็สร้างความน่าสนใจให้กับผู้ฟังอย่างผมอยู่แล้วว่าจะมาไม้ไหน และเนื้อหาการบรรยายของเขาก็ดูเข้าทีเหมือนกัน
หนึ่งในประเด็นที่เขาพยายามทำให้คนการตลาดเข้าใจกันแบบง่าย ๆ คือการจะทำอาหารจานเด็ดได้นั้น ก็ต้องมาจากองค์ประกอบหลายอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ใช่นึกว่าจะอยากได้อาหารก็ได้เลย เช่นเดียวกับนักการตลาดที่อยากได้ผลลัพธ์ที่ดีของการตลาดแล้วนั้น ก็ต้องถอดออกมาให้เห็นก่อนว่ามาจากอะไรบ้าง
ทั้งนี้ เขาได้ใช้การเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าจะทำอาหารให้ดีนั้น อย่างน้อยเราก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "สูตรอาหาร" และ "วัตถุดิบ" เพื่อสามารถทำอาหารออกมาให้เป็นเมนูจานที่ต้องการได้
เมื่อเราเปรียบเทียบกันแล้ว "วัตถุดิบ" ที่ว่าก็คงไม่พ้นกับตัวบรรดาข้อมูลที่แบรนด์มี เพราะถ้าแบรนด์มีข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพแล้วนั้น ก็คงยากที่จะทำให้ผลของทำ Data Marketing ออกมาแบบมีคุณภาพได้ ฉะนั้นมันก็ต้องกลับมามองว่าวันนี้ธุรกิจมีข้อมูลที่ดีพอสำหรับเอาไปทำงานกันต่อหรือเปล่า
ในส่วนของ "สูตรอาหาร" นั้นก็เหมือนกับว่าเราต้องรู้วิธีการปรุง วิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น ๆ เพื่อทำให้เกิดรสอาหารอย่างที่ต้องการ ก็เปรียบได้กับว่าธุรกิจนอกจากจะมีข้อมูลแล้วก็ยังต้องมีกลยุทธ์ที่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพ เช่นถ้าเรามี CRM Data แล้วจะเอามาทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง เรามีแนวคิดที่จะเอา Raw Data เหล่านี้ไปประมวลผลอย่างไรเพื่อทำให้เกิดอะไรขึ้น
การมี "สูตรอาหาร" และ "วัตถุดิบ" นี้ ก็ดูจะเป็นตัวตั้งต้นสำคัญที่คนทำการตลาดต้องมีโดยจะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ถ้ามีแต่ข้อมูลแต่ไม่มีกลยุทธ์ก็กลายเป็นของไร้ค่า ส่วนถ้ามีไอเดียแต่ขาด Data ก็ทำให้ไอเดียนั้นเกิดขึ้นจริงไม่ได้
แต่นอกเหนือจากคู่ดังกล่าวแล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือ "เครื่องครัว" เพราะถ้าเราขาดอุปกรณ์ที่จะทำอาหารแล้วนั้น มันก็คงอยากที่จะทำให้เมนูอาหารนั้นเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ต่างจากนักการตลาดด้วยเหมือนกันที่เราต้องมี Marketing Technology เพื่อเอาไว้จับ Data มาทำงานตามไอเดียที่วางไว้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจ เช่นถ้าเราอยากทำ Personalization ให้มากขึ้น นอกจากเราจะมี Data ของลูกค้าในมือและหลักการที่จะจับคู่ Creative กับ Identify / Profile แล้วนั้น เราก็ต้องมีตัวเครื่องมือที่ช่วยจับคู่ดังกล่าวและส่งโฆษณาออกไปได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายด้วยเป็นต้น
แนวคิดของ "สูตรอาหาร" "วัตถุดิบ" และ "เครื่องครัว" ที่เทียบได้กับ "กลยุทธ์" "ข้อมูล" และ "เครื่องมือ" เป็นการเปรียบเทียบที่ดูเข้าใจไม่ยากแต่เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ หากจะใช้เป็นตัวตั้งต้นของธุรกิจหากคิดจะทำเรื่อง Data Marketing กันว่าเรามีอะไรและขาดอะไรกันบ้าง
ถ้าใครเห็นเป็นประโยชน์และจะเอาแนวคิดนี้ไปใช้อธิบายลูกค้าหรือคนทำงานด้วยกันก็น่าจะช่วยทำให้คนไม่มีพื้นฐานเข้าใจกันได้ง่ายขึ้นอยู่เหมือนกัน ก็ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ
#ความรู้ควรถูกส่งต่อ #marketing #การตลาด #การตลาดออนไลน์
Comments